Top Down หรือ Bottom Up ?
Top Down หรือ Bottom Up ?
ในการเล่นเครื่องเสียงนั้น ผมมักย้ำหลายๆครั้งว่า ให้เล่นและคิด แบบ Top Down อย่าเล่นแบบ Bottom Up ครับ เพราะหากคุณ คิด และ เล่น แบบ Bottom Up คุณจะหลงทาง และ สูญเสียเงินทองไปมากมายโดยไม่จำเป็น และ ร้ายที่สุดคือ หาความลงตัว และ ความพอใจ ไม่เจอ เล่นยังไงก็ไม่จบ ไม่นิ่ง ดังนั้น แนวคิดหลัก และ แนวทาง หลักที่คุณจะใช้นั้น จึงสำคัญมาก
Top Down คือ วิธีคิด และ เลือก แบบพิจารณา จากประเด็นใหญ่ๆก่อน แล้วจึงค่อยๆ แยกย่อยลงไปหาสิ่งที่เป็นประเด็นเล็กๆย่อยๆ
Bottom Up คือ วิธีคิด และ เลือก แบบ เน้นพิจารณา จากสิ่งเล็กๆ เป็นสำคัญ โดยไม่ได้คิดถึงภาพใหญ่ให้เสร็จสิ้นเรียบร้อยเสียก่อนว่า จะเล่นไปในแนวทางไหน เห็นอะไรชอบ ซื้อเลย คนโน้นว่าอันนี้ดี ซื้อเลย จับยำใหญ่ ใส่สารพัด แล้วจับยัดเข้ามาเป็น system หนึ่งชุด….
ประเด็นที่เป็นข้อเสียมากๆ ของการเล่นแบบ Bottom Up คือ หากคุณไปตัดสินใจเลือกในสิ่งเล็กๆ ประเด็นปลีกย่อยก่อน โดยไม่ยอมคิดถึงประเด็นใหญ่ให้เสร็จสิ้นก่อน คุณจะพบปัญหาการ matching system การลงทุนที่ไม่คุ้มค่า หรือ ไม่เห็นผล เสียงที่ไม่ดี เสียงที่มีปัญหา และ อื่นๆอีกมากมาย
เช่น.. คุณไปลงทุนซื้อสายไฟ เส้นละ 1 ล้านมาใช้ แต่ห้องฟังของคุณกลับมีสัดส่วนห้องที่ผิด เกิดปัญหาการโด่งของความถี่เสียงย่านใดย่านหนึ่งที่แก้ไขไม่ได้ หรือ ร้านเชียร์ให้ซื้อ system หลายล้านบาท แล้วก็เอามาวางเรียงเป็น แถวหน้ากระดานเรียงหนึ่ง อย่างที่ผมเคยเห็นร้านค้าเอามาโชว์ด้วยความภูมิใจ แถมคุยเรื่องความแพงของ system โขมงโฉงเฉงไปหมด (ไม่รู้ทำไม ชอบเอาราคาเข้าข่ม และ ผู้บริโภคก็ยอมเสียด้วย พิลึก) หรือคุณไปซื้อลำโพงความไวต่ำมา แต่ดันไปซื้อ แอมป์ SET 5W มาขับมัน เพราะเซียนอีกคนบอกว่า อยากได้เสียงหวานต้องเล่น SET เท่านั้น คุณก็ซื้อ โดยไม่ได้คิดถึงภาพใหญ่ทั้งหมด ให้เสร็จสิ้นเสียก่อนว่า คุณต้องการเสียงแบบไหน จาก system ของคุณ
และอุปกรณ์ประเภท accessories คือ กลุ่มที่สร้างปัญหาหลักขึ้นมามากที่สุด บางครั้งเถียงกันแบบมั่วไปหมด เพียงเพราะคนหนึ่งคิดแบบ Top Down อีกคนหนึ่งคิดแบบ Bottom Up
การเล่นแบบ Top Down สำหรับผมแล้ว ประเด็นหลักที่สำคัญ ที่ต้องคิด วางแผน และ ทำ ให้เสร็จสิ้นก่อนคือ
1. ห้องฟังที่มีสัดส่วนถูกต้อง และ มีโครงสร้างที่ถูกต้อง ป้องกันเสียงรบกวนเข้าออกได้ดี
2. การเลือกจัดชุดเครื่องเสียงหลักที่ถูกต้อง mathcing ทั้งค่าทางสเปค และ รสนิยมของเจ้าของชุด
3. การ setup sytem ทุกๆชิ้น ให้ได้ผลที่มีประสิทธิภาพสูงสุดของ system นั้นๆ
4. การปรับสภาพอคูสติคในห้องฟัง ให้ถูกต้องเหมาะสม
(ในแต่ละข้อ ยังมีรายละเอียดอีกมาก ที่แจกแจงได้ไม่หมด ขอให้ไปค้นคว้ากันต่อไป อยู่กลุ่มนี้ เหมือนอยู่ มหาวิทยาลัยครับ ต้องไปดิ้นรนต่อเอาเองนะครับ อิ อิ)
การคิดผิด ทำผิด ใน 4 ข้อข้างต้นดังกล่าว จะสร้างปัญหาน่าปวดหัว ที่บางครั้ง ถึงกับ แก้ไขอะไรไม่ได้ก็มีครับ เช่น หากห้องฟังมีสัดส่วนที่ผิด มีโครงสร้างที่ผิด ห้องเปิดโล่ง เสียงผ่านเข้าออกได้สารพัด มีเสียงรบกวนให้ได้ยินมากมาย แล้ว คุณก็จะไปซื้อ เครื่องกรองไฟแสนแพง ที่อ้างว่า เงียบสนิท แสนสงัด มาใช้หรือครับ ? มีประโยชน์อะไรตรงไหน ? มันไม่ได้ผิดนะครับ หากว่า จะมีห้องที่เปิดโล่ง บางท่านอาจชอบเช่นนั้น บางท่านมีข้อจำกัด แต่หากเป็นเช่นนั้น ก็ไม่ควรจะไปลงทุนอะไรมากมายในระบบเครื่องเสียงครับ เล่นแค่กลางๆก็พอแล้ว แล้วก็ฟังเพลงให้มีความสุข
มันเหมือนกับ ห้อง demo ของร้านค้าร้านหนึ่ง ที่มีฝาผนังข้างด้านหนึ่ง แล้วอีกผนังอีกด้านเปิดโล่ง ไม่มีผนังข้าง และ มีฝ้าเพดานที่สั่นกระพือได้ นั่นก็แสดงถึงปัญหาที่เกิดจาก การขาดความรู้ ความเข้าใจ ในประเด็นหลัก 4 ข้อข้างบน อย่างชัดเจน แถมยัง setup ไม่เป็นอีก ผลที่ได้คือ การลดทอนคุณภาพเสียงของ system ลงไปอย่างมากมายมหาศาล ถ้าเช่นนั้น การลงทุนในเครื่องเสียงเป็นหลายๆล้านบาท จะคุ้มค่าที่ตรงไหน ? เล่นแค่ระดับกลางๆก็เพียงพอหรือเปล่าครับ
หรือเรื่อง จะจัด system อย่างไร จู่ๆ ก็มีคนมาบอกให้มือใหม่ต้องไปเล่น Vintage เขาไปแนะนำอย่างนั้นได้อย่างไร ? ทางเลือกยังมีอีกมากมาย ใครมีสิทธิ์จะไปกำหนดให้ใครไปเล่นอะไรหรือครับ ? ทำไม ไม่ DIY ล่ะ DIY ก็ได้ แล้วทำไมไม่ modern ทำไมต้อง vintage ? เครื่องเสียงสมัยใหม่ มีข้อเสียอะไร ข้อดีอะไร คิด พิจารณา เปรียบเทียบทั้งหมดแแล้วหรือยัง ? และแน่ใจได้อย่างไร ว่า ทุกๆคน จะชอบ Vintage เหมือนๆกันทุกๆคน ? ประเด็นคือ ผู้เล่น ผู้เลือก จะต้องศึกษา เรียนรู้ ทดลอง แนวทางทุกแนวทางด้วยตัวเอง และ ค้นหาตัวเองให้เจอ อย่าไปเชื่อ เซียน (รู้แล้วใช่ไหมว่า กลุ่มนี้ เราต่อต้าน “เซียนฟันธง” มาโดยตลอด)
แล้วอย่างการ setup system แบบ เละตุ้มเป๊ะ ตามมาด้วยเสียงที่ฟังไม่ได้ พอเสียงเละ ก็เชียร์ให้ลูกค้าซื้อโน่น เติมนี่ ไม่ยอมหยุด เพื่อที่จะแก้ไขปัญหาไปเรื่อยๆ ทั้งๆที่ ต้นเหตุ ต้นตอ ของปัญหา ไม่เคยรับการแก้ไข
ตัวคนเล่นก็เหมือนกันครับ บางทีติดยึดภาพพจน์ความเป็นเซียนว่า จะต้องใส่ใจรายละเอียด โน่นนิด นี่หน่อย ฉันจะต้องได้ยิน ฉันจะต้องฟังออก แล้วก็ไปวิ่งหาของเล่น มาเสริมภาพพจน์ของตัวเอง ทั้งๆที่เรื่องพื้นฐาน เรื่องใหญ่ๆ เรื่องหลักๆ ก็ยังทำผิดๆอยู่อย่างชัดแจ้ง พอแก้ปัญหาไม่ได้ ก็เปลี่ยนสายใหม่ แพงเท่าไรก็ซื้อ หาตัวหนุน ตัวรอง ตัวกดทับ สารพัดจะหามาใช้… แปะดินน้ำมัน ตั้งมุมองศาเหรียญ ฯลฯ.
หยุดเถอะครับ…
กลับมาที่จุดเริ่มต้น เราทำเรื่องพื้นฐานไว้ถูกต้องแล้วหรือยัง ? พยายามทำอะไรให้เรียบง่ายเข้าไว้ หากอะไรที่เป็นตัวต้นเหตุ หาให้เจอ แล้วเข้าไปแก้ที่ตัวต้นเหตุ อย่าไปแก้ที่ปลายเหุต หากคิดว่า เสียงแข็ง เสียงไม่ดี ก็เปลี่ยน system หลักเลยครับ เลือกให้ดี เลือกให้ละเอียด ไม่ใช่ไปพยายามแก้ด้วยการเปลี่ยนสายสัญญานต่างๆ
สายสัญญานนั้น เป็นเพียงการ fine tune บุคลิกเสียงของระบบ เราจะซื้อ และ ทดลอง ก็ต่อเมื่อ system หลักของเราลงตัว และ ถูกต้องในหลักการอยู่แล้ว เสียงดีอยู่แล้ว ตรงความต้องการของเราอยู่แล้ว… แล้วเราจึงค่อยหาสายที่จะมาช่วย fine tune เสียงให้ได้ตรงกับความชอบ ความต้องการของเรา และ ช่วยให้ system แสดงประสิทธิภาพสูงสุดออกมา
แต่ต้องไม่ใช่ว่า ห้องก็ผิด โครงสร้างห้องก็ผิด สัดส่วนห้องก็ผิด จัดชุดก็ผิด ไม่ได้ปรับสภาพอคูสติคอะไรเลย…
แล้วก็…. ไปใช้สายลำโพงเส้นละเป็นแสนๆ บาท ?
คิดแบบนี้ เล่นแบบนี้ ผมไม่เห็นด้วยครับ
หรืออย่าง… อุปกรณ์เสริม ก็คือ อุปกรณ์เสริม
อย่ามองมันเป็น อุปกรณ์แก้ปัญหา
หาก system หลักมีปัญหา ให้แก้ที่ system หลัก ไม่ใช่ไปซื้อ อุปกรณ์เสริมเพื่อมาแก้ปัญหาของ system ขืนทำเช่นนั้น มันไม่จบ ไม่สิ้น และ ได้ซื้อ ได้เสียเงินไปเรื่อยๆ ไม่จบไม่สิ้นเช่นกัน
ก่อนที่จะใส่ จะเพิ่ม อะไรเข้าไป ถามตัวเอง…
จำเป็นจริงๆหรือไม่ ? ทำให้เสียงดีขึ้นจริงๆหรือไม่ ?
กลับไปดู 4 หัวข้อหลัก เราทำถูกต้องทุกอย่างหรือยัง ?
หากไม่แน่ใจ อย่าใส่ อย่าเพิ่ม อะไรเข้าไปครับ
มีปัญหาใน system หาต้นเหตุ สาเหุตหลักให้เจอเสียก่อน เราคิดว่า ปัญหาคืออะไร อะไรทำให้เกิดปัญหานั้น แล้วเราจะแก้อย่างไร ? ไม่ใช่ว่า…. คุณยังตอบเรื่องพวกนี้ไม่ได้ แต่วิ่งไปร้านเครื่องเสียงเพื่อหาซื้อ “ยาวิเศษ” ถ้าแบบนี้… ก็เป็น “หมูหัน” ที่กรอบนอก นิ่มใน ดีๆนี่เอง.. ละครับ
อย่าเขียนไปถามคนอื่นว่า จะแก้ปัญหาใน system ของคุณอย่างไร หาก “คุณ” ผู้เป็นเจ้าของ system กินนอนอยู่กับมัน แล้วยังไม่รู้จัก ไม่เข้าใจ system ของตัวเอง แล้วคนอื่น จะเข้าใจ system ของคุณได้อย่างไร เขาก็ได้แค่คาดเดา คาดคะเน เอาครับ อาจจะถูก อาจจะผิด ไม่มีใครรู้ แต่เชื่อผมเถอะ ไม่มีใครหรอกที่ดูเพียงรูป แล้วจะบอกได้ว่า เสียงเป็นอย่างไรกันแน่ ที่เขาทำได้ก็แค่เดาเท่านั้น เดาถูกบ้าง เดาผิดบ้าง ก็เดากันไปเรื่อย… ส่วนการที่จะรู้ได้จริงๆ จะต้องมานั่งฟังด้วยตัวเองเท่านั้นครับ จึงจะบอกได้แน่ๆว่า เสียงของชุดนั้นๆ เป็นอย่างไรกันแน่…. ปัญหามันอยู่ตรงไหน ?
จงเดินไปให้ถูกทางเสียตั้งแต่วันแรก…
ดูห้องฟังของคุณ ห้องคุณเป็นอย่างไร มีข้อดี ข้อเสีย อย่างไร คุณทำห้องฟังที่เหมาะกับเครื่องเสียงลักษณะไหน ห้องฟังพร้อมที่จะให้เครื่องเสียงเปล่งประสิทธิภาพสูงสุดออกมาได้หรือไม่ ? จงทำสัดส่วนห้องให้ถูกต้อง ทำโครงสร้างห้องให้ถูกต้อง หากมีข้อจำกัดทางห้องฟัง ก็อย่าลงทุนในเครื่องเสียงจนมากเกินไป หรือ หากลงทุนไปแล้ว ก็ต้องรู้ว่า มันมีข้อจำกัดบางประการ ที่อาจแก้ไขไม่ได้เลย
รู้ว่าห้องจะเป็นอย่างไรแล้วจึงค่อยไปจัด system ด้วยการเลือกลำโพงที่คุณชอบก่อนว่า คุณชอบลำโพงประเภทใด ฮอร์น ไดนามิค พลาน่า ฯลฯ. ขนาดห้องของคุณ เหมาะสมกับลำโพงขนาดใหญ่ หรือ เล็ก วางหิ้ง หรือ ตั้งพื้น ? (ห้อง และ ลำโพง เป็นสิ่งที่มีปฎิสัมพันธ์กัน ดังนั้นในการออกแบบขั้นต้น จะต้องดูว่า ห้องรองรับลำโพงได้ขนาดไหน หรือ หากเราเล่นลำโพงแบบนี้อยู่ มันต้องการห้องขนาดใด ? )
เมื่อได้ลำโพงที่ชอบแล้ว จึงค่อยๆเลือก แอมป์ เลือก source และ ส่วนประกอบอื่นๆ ที่ matiching กับลำโพงนั้นๆ ทั้งในแง่ของสเปค และ บุคลิกเสียง และ อย่าลืมดูด้วยว่า system ที่คุณเลือก มีความเหมาะสมกับห้องของคุณหรือไม่
คุณจะต้องรู้ว่า คุณชอบฟังเพลงแบบไหน และ เพลงแบบนั้นๆต้องการเครื่องเสียง และ ห้องฟัง ในลักษณะใด ซึ่งแต่ละคนจะชอบไม่เหมือนกัน และ ให้ลำดับความสำคัญในสิ่งต่างๆ ไม่เท่ากัน นั่นจึงเป็นเหตุผลที่ผมย้ำนัก ย้ำหนาว่า อย่าซื้อตามเซียน อย่าเชื่อเซียน จงค้นหาตัวเอง ค้นพบตัวเอง พัฒนาตัวเอง ฟังเองเป็น เลือกเองได้ ครับ
ได้ห้องแล้ว ได้ system แล้ว ต่อไปคือ การ setup system ให้สามารถแสดงประสิทธิภาพที่สูงสุด เท่าที่มันจะทำได้ออกมา เฉพาะขั้นตอนนี้ มีรายละเอียดมากมาย ที่คุณจะต้อง เรียนรู้ ศึกษา และ ทดสอบ ทดลอง….
สุดท้ายคือ การปรับสภาพอคูสติคให้ห้องฟัง ด้วยอุปกรณ์ปรับอคูสติคต่างๆ ซึ่งมีตั้งแต่ ทำเองราคาถูกๆ ไปจนของสำเร็จรูปที่มีราคาสูง แต่สิ่งเหล่านี้ มีความสำคัญที่จะมองข้ามไม่ได้ และ ควรจะต้องทำให้ถูกต้องครับ
หากคุณทำครบถ้วนทั้งสี่ข้อนี้แล้ว คุณจะได้ system และห้อง ที่ถูกต้อง และ ให้คุณภาพเสียงที่ดีที่สุดตามแต่งบประมาณของคุณที่มีให้
หลังจากนี้ ไม่ว่า คุณจะซื้อ เครื่องเสียงชิ้นใหม่ ของเล่นชิ้นใหม่ สายเส้นใหม่ คุณจะ tweak จะทำอะไรก็ตาม ห้องที่ดี และ system ที่ดี จะช่วยให้คุณฟัง และ ตัดสินใจได้ง่ายว่า สิ่งที่เพิ่มเข้ามาชิ้นนั้นๆ ทำให้เสียงดีขึ้น หรือ แย่ลง ไม่มั่ว และ ไม่สับสน
อีกทั้ง ห้องและ system ที่ดี จะช่วยพัฒนาทักษะ ประสบการณ์ ให้ตัวคุณได้เป็นอย่างดี เพราะเมื่อห้องดี และ system ดีแล้ว การทดลอง ทดสอบ ในแต่ละสิ่งนั้น จะทำให้คุณได้ยินความแตกต่างได้โดยง่าย และ เที่ยงตรง ถูกต้อง
ตรงกันข้าม.. หากห้องคุณเละ system จัดมาผิด หลักการใหญ่ๆผิดหมด ไม่ว่าคุณจะซื้อ จะเล่นอะไรก็ตาม คุณจะไม่มีวันรู้ได้แน่เลยว่า มันดีขึ้น หรือ เลวลง มันเกิดจากอุปกรณ์ หรือ อะไร ชิ้นไหน เป็นปัญหา คุณฟังไม่ออก คุณไม่เข้าใจ คุณจะงง และ สับสน…
แล้วคุณก็จะเริ่มต้นหลงทาง แก้ปัญหาไปอย่างสะเปะสะปะ และในที่สุด… คุณก็จะต้องไปเป็นเหยื่อของร้านค้า กับ เซียนกำมะลอ ที่จะรอ “ฟันธง” ให้กับ “หมูหัน” อย่างคุณ ให้เปลี่ยนทุกอย่างไปเรื่อยๆ เรื่อยๆ… แก้ไม่ได้ ก็ซื้อใหม่ ซื้อใหม่ แล้วก็.. ซื้อใหม่… ไปอย่างไม่จบไม่สิ้น และ ไม่เคยหยุดนิ่ง และ ไม่เคยมีความสุขกับการฟังเพลงเลย….
หยุดเถอะครับ หยุดนิ่งๆ แล้วถามตัวเองว่า เราเล่นเครื่องเสียงเพื่ออะไร ?
เพื่อฟังเพลง ?
หรือ เพื่อเปลี่ยนโน่น ซื้อนี่ ไปเรื่อยๆ ชนิดไม่ยอมหยุด ?
และหากคุณพบว่า คุณไม่มีความสุข กับชุดเครื่องเสียงของคุณเลย คุณไม่เคยนั่งฟังเพลงอย่างมีความสุขเลย
ก็ให้ลองถามตัวเองว่า คุณกำลังเดินผิดทาง วิ่งสวนเลน ว่ายทวนน้ำ อยู่หรือเปล่า ?
คุณทำสิ่งหลักๆ สำคัญๆ ถูกต้องแล้วหรือยัง ?
คุณใส่ใจในเรื่องใหญ่ๆ ก่อนเรื่องเล็กๆ ปลีกย่อย แล้วหรือยัง ?
คุณกำลังเล่นแบบ Top Down หรือ Bottom Up ครับ ?