การเก็บรักษาแผ่นเสียง

แผ่นเสียงเป็นสิ่งมีค่า สำหรับคนที่รู้คุณค่าของมัน บางแผ่น เป็นแผ่นที่ out of print ไปแล้ว บางแผ่นเป็นแผ่นสะสมที่มีมูลค่าสูง บางแผ่นเป็นความสุขทางใจ ของคนที่รัก และ เล่นแผ่นเสียงทุกคนเท่านั้น ที่เข้าใจ

เพื่อให้แผ่นเสียงที่รักของคุณ อยู่กับคุณไปนานๆ ให้อยู่ในสภาพที่ใกล้เคียงกับวันที่คุณเพิ่งซื้อแผ่นเสียงนั้นมาใหม่ๆ ความใส่ใจ ในการเล่น และ การเก็บรักษาแผ่นเสียงให้ถูกต้องจึงเป็นสิ่งจำเป็นมากครับ และ.. ผมมีคำแนะนำดังนี้…

ห้องและ สถานที่ ในการเก็บแผ่นเสียง ควรเป็นห้องที่ไม่โดนแสงอาทิตย์โดยตรง ไม่ควรเป็นห้องใต้หลังคาดาดฟ้า ที่มีความร้อนสูงๆ ควรเป็นห้องที่ มีอากาศถ่ายเทดี อุณหภูมิปกติ อยู่ในที่ร่ม ไม่มีความชื้นสูง ไม่มีฝุ่น ไม่มีควัน ควรเป็นห้องที่สะอาด ไม่สกปรก ให้แน่ใจว่า ต้องเป็นที่ ที่ไม่มีความเสี่ยง จากการรั่วไหลของน้ำจากแหล่งต่างๆ เช่นน้ำฝน หรือ ท่อประปารั่ว หรือ การล้างแอร์

ตู้เก็บแผ่นเสียง ควรเป็นตู้เหล็ก ใช้ไม้ให้น้อยที่สุด หรือ ไม่มีส่วนประกอบที่เป็นไม้เลย จะดีมากครับ ตู้ดังกล่าว ควรมีช่องแบ่งเป็นช่องย่อยๆในตัวเอง หากไม่มี จะต้องจัดทำขึ้นมาให้เหมาะสม
(บางความเห็นบอกว่า ควรเลี่ยงตู้เหล็ก เพื่อเลี่ยงไฟฟ้าสถิตย์ แต่ผมเองคิดว่า ปัญหาไฟฟ้าสถติย์ จัดการแก้ไขได้ หากเกิดขึ้น แต่ปัญหา ปลวกทำลายแผ่นเสียงนั้น แก้ไขไม่ได้เลยครับ ผมเคยเสียแผ่นเสียงไปจำนวนหนึ่ง เพราะโดนปลวกทำลายนี่ละครับ)

ตู้เก็บแผ่นเสียง ควรมีโครงสร้างที่มั่นคงแข็งแรง จะต้องแน่ใจว่า ตู้จะสามารถรับน้ำหนักแผ่นเสียงทั้งหมดที่มีไว้ได้ โดยไม่พังลงมาเสียก่อน และ ควรตั้งอยู่ในที่ ไม่มีแรงสั่นสะเทือนมากๆจนเกินไป

การเก็บแผ่นเสียง ให้เก็บในแนวตั้ง หากเป็นไปได้ ควรแบ่งช่อง ออกเป็นช่องย่อยๆ เก็บช่องละ 20-30 แผ่น แต่ละช่อง ให้ใส่แผ่นจนเต็มพอดี แล้วดึงออกสัก 3-4 แผ่น เพื่อให้เป็นการเก็บแผ่นอย่างหลวมๆเล็กน้อย อย่าอัดแผ่นเข้าไปจนแน่น อย่าวางแผ่นแค่ แผ่น สองแผ่นในแต่ละช่อง ทั้งสองแบบจะไม่เป็นผลดีต่อแผ่นเสียงครับ

การเก็บแผ่นที่อัดแน่นเกินไป อาจทำให้เกิดแรงกด ไปกระทำต่อแผ่นเสียง จนเกิดเสียหายได้
การวางแผ่น น้อยเกินไป จนวางแผ่นไว้แบบเอนๆ มากเกินไป จะทำให้แผ่นเสียงโก่งงอในที่สุด

การวางแผ่น แบบหันหน้าปกแผ่นเสียงเข้าหาตัวเรา เหมือนกับร้านขายแผ่น จะมีข้อดีว่า สะดวกในการพลิกดูแผ่น แต่ ข้อเสียคือ กินเนื้อที่มากเกินไป และ ไม่สามารถทำแบบซ้อนกัน หลายๆชั้นได้ หากมีแผ่นเสียงมากๆ วิธีนี้จะกินพื้นที่ ที่ใช้ในการเก็บแผ่นมากเกินไปครับ
แผ่นเสียงควรเก็บไว้ในซองใน และ ใส่ซองในไว้ในซองนอกเสมอ
ซองในที่ใช้ ควรเป็น static-free polyethylene
อย่าใช้ซองกระดาษ ให้หลี่กเลี่ยงครับ
ซองนอกที่ใช้ ควรเป็นซองแบบบาง และ ไม่ควรเป็นซองพลาสติกแบบหนาบางประเภท ที่จะทำให้แผ่นเสียงเกิดคราบขึ้นในได้ ในระยะเวลานานๆไป
อย่าวางแผ่นทับกันในแนวนอน
แผ่นที่มีขนาดต่างกัน เช่น 12″, 10″ หรือแผ่น single ควรจัดเก็บแยกออกจากกัน เป็นหมวดหมู่
เมื่อเล่นเสร็จ ควรเก็บเข้าซองในทันที และ เก็บเข้าช่องเก็บแผ่นทันที



นอกจากนี้ อาจจัดแบ่งบางพื้นที่ของห้อง สำหรับตั้งอุปกรณ์ ล้าง เช็ด ทำความสะอาดแผ่นเสียง เช่น โต๊ะสำหรับตั้งเครื่องล้างแผ่นเสียง และ จัดเก็บอุปกรณ์ทำความสะอาดต่างๆ ไว้ในพื้นที่เดียวกัน ทั้งนี้ เพื่อความสะดวก ในการนำแผ่นมาล้าง และ จัดเก็บเข้าที่เก็บได้ทันที เมื่อทำความสะอาดเสร็จสิ้นครับ

หากท่านจัดเก็บแผ่นเสียงของท่านได้อย่างถูกต้อง แผ่นเสียงที่มีค่าของท่าน ก็จะอยู่กับท่านไปได้อย่างยาวนาน ตลอดไปครับ