กี่วัตต์ ถึงจะพอ ?

กี่วัตต์ ถึงจะพอ ?


นี่คือ คำถามยอดนิยม ที่ผมพบเห็นได้บ่อยมากๆครับ  และ… โดยส่วนใหญ่ คำตอบที่ได้  ก็มักจะตอบกันได้ไม่ครบถ้วนสมบูรณ์  ผมจึงอยากจะเขียนแนะนำไว้สักครั้งว่า  ในการเลือกกำลังขับของ Power Amp ให้ถูกต้องนั้น คุณต้องพิจารณา ถึงสิ่งใดบ้าง

ต้องมากๆ ให้มากที่สุดใช่ไหม ถึงจะดี ?
เปล่าเลยครับ… กี่วัตต์ ถึงจะพอ นั้น เป็นเรื่องที่ต้องพิจารณาจากหลายๆสิ่งด้วยกัน มันไม่มีสูตรสำเร็จรูป หรือ คำตอบง่ายๆ สั้นๆ หรอกครับ..

คุณรู้หรือไม่ว่า มีนักเล่นที่เล่นแอมป์ที่มีกำลังขับแค่เพียง 10 watt 5 watt 3 watt หรือแม้กระทั่ง 1 watt หรือ…. แม้กระทั่ง… ไม่ถึงวัตต์ ?

คุณรู้หรือไม่ว่า มีผู้ผลิต ที่ผลิตแอมป์ขนาดมหึมา ที่มีกำลังขับกันเป็นหลัก 1,000 watt ออกมาด้วย ?

ทำไม มันถึงได้มีความแตกต่างอะไรกันมากขนาดนั้น ? ใครเป็นฝ่ายถูก ? แล้วอะไรที่มันเหมาะสมกับคุณ ?

การเลือกกำลังขับของแอมป์นั้น สิ่งแรกที่คุณควรคำนึงคือ แนวทางที่ว่า “หากแม้นวัตต์แรกมันไม่ถูกต้อง ก็ไม่ต้องพูดถึงวัตต์ต่อๆไปอีกเลย”

นั้นย่อมหมายถึง การเน้นคุณภาพเสียงของภาคขยายนั้นๆว่า คุณภาพเสียง ย่อม ต้องมาก่อนจำนวนกำลังขยาย

“คุณภาพ” ต้องมาก่อน “ปริมาณ”

เพราะหากว่าคุณภาพเสียงมันด้อยคุณภาพ ไม่ว่ามันจะมีกำลัง 1 watt หรือ 1000 watt มันก็ไม่มีความหมายอีกต่อไป

อย่าไปหลงผิด คิดว่า ตัวคุณเองจำเป็นจะต้องมี แอมป์ใหญ่ๆ วัตต์เยอะๆ เอาไว้ก่อน ยิ่งเยอะยิ่งดี อย่าหลงเข้าใจผิดว่า วัตต์เยอะแล้ว เสียงจะต้องดีตามไปด้วย แอมป์วัตต์เยอะ แล้วเสียงห่วยก็มีครับ จำนวนวัตต์ของแอมป์ ไม่ได้เป็นตัวตัดสินคุณภาพเสียง

ดังนั้น เมื่อคุณเลือกแอมป์ ขอให้เน้นเรื่องคุณภาพเสียงเป็นสำคัญ ถามตัวเองก่อนว่า ภาคขยายที่กำลังฟังอยู่นั้น มีคุณภาพเสียงที่ดีหรือไม่ ? หากว่า มันมีคุณภาพเสียงที่ดี เราจึงค่อยพิจารณาปัจจัยอื่นๆต่อไปว่า มันมีกำลังขับเพียงพอสำหรับเราหรือไม่ ?

(คุณภาพเสียงที่ดีเป็นอย่างไร ? ขอให้ย้อนกลับไปอ่านในหัวข้อ “ฟังอย่าง Audiophile” นะครับ )

ก่อนจะดูว่าคุณต้องการกี่วัตต์… มาว่ากันถึงผลของการเลือกขนาดกำลังขับของ Power Amp ผิดไปก่อนว่า มีผลเสียอย่างไรบ้าง ?

ถ้าหากคุณเลือก power amp ที่มีกำลังไม่พอ ที่จะขับลำโพงตัวนั้นๆ   คุณจะไม่ได้ยินเสียงเต็มประสิทธิภาพจากชุดเครื่องเสียงของคุณ เสียงที่ได้จะไม่เปิดโล่ง ไม่มีกำลัง ขาดไดนามิค และเสียงจะเครียดในขณะที่ดนตรีกำลังสวิงไปสู่จุดสูงสุด

แต่ถ้าหากคุณเลือก power amp ที่มีวัตต์มากเกินไป โดยไม่จำเป็น คุณก็ต้องเสียเงินไปในสิ่งที่ไม่จำเป็น คุณอาจจะซื้อมาเป็น “แสน” แต่คุณใช้ได้แค่ “พัน”  คุณอาจจะเสียโอกาสในการเล่นแอมป์ SET 300B เพราะมันมักจะมีวัตต์ต่ำ ถึง ต่ำมาก (ซึ่งมีจุดแข็ง จุดด้อยที่ต้องพิจารณานะครับ) หากคุณเอาแต่ยึดติดอยู่แต่ว่า ยิ่งมากยิ่งดีไว้ก่อน นั่นจะเป็นการจำกัดทางเลือก และ โอกาสของตัวคุณเองครับ

คุณอาจจะเสียโอกาสที่จะนำเงินที่ประหยัดได้ ไปลงทุนในจุดอื่นๆในชุดเครื่องเสียงของคุณ  และ..

ประเด็นสำคัญ อย่างที่บอกไว้แต่แรกแล้ว… คือ…   หากวัตต์แรก ไม่ถูกต้อง  ก็ไม่ต้องพูดถึง วัตต์ต่อๆไป   เพราะวัตต์ต่อๆไป ไม่มีความหมาย  คุณจะต้องการ Power Amp 500W ที่เสียงห่วยไปในทุกๆวัตต์ เพื่ออะไรครับ ?

ทำไม คุณไม่ซื้อ Power Amp ขนาด 70W ที่มีคุณภาพเสียงดีกว่า  หากว่าลำโพงของคุณ ไม่ได้ต้องการกำลังขับมากไปกว่านั้น ?

หลายๆท่าน  บางครั้ง อาจจะเลือก Power Amp โดยเน้นให้มีวัตต์ มากๆไว้ก่อนเสมอ โดยไม่คำนึงถึงสิ่งอื่นใดเลย..  แต่นั่น… จะทำให้ คุณเสียโอกาส ในการพิจารณา แอมป์ที่มีคุณภาพเสียงดีกว่า หรือ มีบุคลิกเสียงตรงตามความต้องการของคุณ  ไปอย่างน่าเสียดาย…

ดังนั้น การเลือก Power Amp ที่มีกำลังขยายเหมาะสม  และ มีคุณภาพเสียงดีที่สุด  มีบุคลิกเสียงตรงตามความต้องการของเจ้าของชุด  จึงมีความสำคัญมากครับ

ปัจจัยที่เราจะใช้พิจารณากำหนดว่าเราต้องการวัตต์เท่าไรมีดังนี้


โดยทั่วๆไป คำแนะนำ ที่มี มักจะแนะนำอย่างคร่าวๆ  และ มักจะกำหนดจำนวนวัตต์ให้โดยไม่มีการอธิบาย ให้เข้าใจอย่างถ่องแท้ ถึง ปัจจัยต่างๆ ให้พิจารณา  และ มักจะแนะนำวัตต์ให้มากๆไว้ก่อนเสมอ   ทั้งๆที่ ในบางกรณีนั้น ไม่มีความจำเป็นจะต้องใช้แอมป์ที่มีกำลังวัตต์มากๆเลย

เพื่อความเข้าใจที่ถูกต้อง เราจึงควรพิจารณา และ ทำความเข้าใจ กับปัจจัยเหล่านี้ครับ

1. ความไวของลำโพง (Speaker Efficiency)
ปัจจัยนี้มีผลมากที่สุดในการเลือกกำลังวัตต์ของเครื่อง ความไวของลำโพงวัดโดยดูว่าเมื่อเราให้กำลัง วัตต์คงที่ให้กับลำโพง และวัดที่ระยะห่างระยะหนึ่งจากลำโพง เสียงที่เราวัดได้จะมีความดังกี่ดีซิเบล เช่น 88dB spl, 1W / 1m. หมายถึง เมื่อเราป้อนกำลัง 1 วัตต์ เข้าไปขับลำโพงคู่นั้น ที่ระยะ 1 เมตรจากลำโพง ลำโพงคู่นั้นจะให้เสียงดัง 88 เดซิเบล

หากเราต้องการฟังด้วยความดังที่ดังมากขึ้น  ในแต่ละความดัง  3 dB ที่เพิ่มขึ้น เราต้องการกำลังวัตต์เพิ่มขึ้นเท่าตัว

ยกตัวอย่างเช่น หากเราใช้ลำโพงที่มีความไวที่ 88db/w/m ที่ SPL 109 db เราต้องการกำลัง 128W มาขับลำโพงคู่นี้ แต่หากเราเปลี่ยนลำโพงไปเป็นคู่อื่นให้มีความไวเป็น 91db/w/m แทน ที่ระดับ SPL 109 db กลับต้องการกำลังขับเพียง 64 W เท่านั้น

จะเห็นได้ว่าเพียงลำโพงมีความไวต่างกัน เพียง 3 db สามารถส่งผลทำให้จำนวน วัตต์ ของแอมป์ที่ต้องการนั้น ต่างกันเป็นอย่างมากครับ

แล้ว.. ถ้าเรา เปลี่ยนมาใช้ลำโพง ที่มีความไว 103 db/w/m ล่ะ ?
ใช่ครับ ที่ SPL 109 db นั้น เราต้องการแอมป์มาขับมันแค่ 4W เท่านั้นเองครับ

2. Load impedance v.s. Frequency
มาว่ากันถึงเรื่องของ Load impedance ของลำโพงก่อน ยิ่งลำโพงมี Load impedance ต่ำเท่าไร ก็ต้องการแอมป์ที่มีกำลังมากขึ้นเท่านั้น โดยทั่วไปลำโพงจะมี Load impedance ที่ 8 Ohm แต่ก็มีบางยี่ห้อ มี Load impedance 4 Ohm ก็มี เช่น Thiel เป็นต้น

หากคุณงง ว่า ทำไม ลำโพงที่มี Load Impedance ต่ำ จึงกลายเป็นลำโพงที่ขับยากไปเสียได้  ในเมื่อความต้านทานต่ำ  มันก็ควรจะขับได้ง่ายๆ ด้วยแอมป์วัตต์ต่ำๆ ไม่ใช่หรือ ?

ให้คุณลองนึกถึง คลองที่กว้างๆ (Load Impedance ต่ำๆ ความต้านทานต่ำๆ กระแสไหลได้คล่องๆ)  คลองยิ่งกว้างเท่าไร ก็ยิ่งต้องจ่ายน้ำจำนวนมากขึ้น เพื่อให้มีปริมาณน้ำส่งไปให้เพียงพอกับขนาดของคลองนั้นๆ    แต่หากเป็นคลองที่มีขนาดแคบ  (Load impedance สูงกว่า ความต้านทานสูงกว่า)  ปริมาณน้ำที่เราต้องใส่ให้กับคลองที่แคบ ย่อมใช้ปริมาณน้ำน้อยกว่า

นั่นเปรียบเหมือน ลำโพงที่มี Load Impedance ต่ำๆ เช่น 4 Ohm เปรียบเสมือนเป็นคลองส่งน้ำที่กว้าง   Power Amp ที่จะใช้ขับลำโพงแบบนี้  จำเป็นที่จะต้องจ่ายกระแสให้กับลำโพงมากเพียงพอ  ดังนั้น ยิ่ง Load Impedance ยิ่งต่ำ  คุณก็ยิ่งต้องใช้ แอมป์ ที่มีกำลังขับสูงๆมากขึ้นเท่านั้น

แต่หากว่า เป็นลำโพงที่มี Load impedance สูงกว่า เช่น 8 Ohm ก็จะเปรียบเสมือนคลองที่มีขนาดแคบลง ทำให้  เราสามารถใช้แอมป์ที่มีกำลังขับต่ำกว่า มาใช้ขับมันได้  โดยที่ยังได้ระดับ SPL (Sound Pressure Level)  ในระดับที่เราต้องการได้

แต่…   Load Impedance นั้น จำเป็นต้องพิจารณาควบคู่ไปกับ Frequency ด้วยครับ  เนื่องจาก การทำงานของลำโพงนั้น ในแต่ละความถี่  Load Impedance ของลำโพง จะผันแปรไปเรื่อยๆ   ไม่ได้คงที่อยู่ที่ 4 Ohm หรือ 8 Ohm อยู่ตลอดเวลาตามที่ระบุในสเปค แต่จะเปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆ อยู่ตลอดเวลา ตามความถี่เสียงที่ผันแปรไป

ดังนั้น..  การพิจารณา Load Impedance ของลำโพง จึงต้องดูให้ละเอียดมากกว่า ค่าทางสเปคที่บอกไว้ในคู่มือ  โดยเราต้องหา กราฟที่พล๊อตแสดงความสัมพันธ์ ระหว่าง Load Impedance กับ Frequency ของลำโพง ตัวนั้นๆ ว่า  มีความสัมพันธ์กันอย่างไร  มีช่วงความถี่ไหนหรือไม่  ที่  Load Impedance มีค่าต่ำลง อย่างมีนัยสำคัญ

ซึ่งหากว่า กราฟของลำโพงตัวไหน มีลักษณะที่ ย่อตัวลง ในความถี่ใด ความถี่หนึ่ง  เราจำเป็นต้องพิจารณา หาแอมป์ ที่มี  Output current (กำลังสำรอง) ดีๆ   ที่จะสามารถเพิ่มกำลังขับได้เท่าตัว ในทุกๆครั้งที่ Load impedance ลดลงครึ่งหนึ่ง  ทั้งนี้ เพื่อให้แน่ใจว่า แอมป์จะสามารถขับลำโพงได้อย่างสมบูรณ์ในทุกๆย่านความถี่

ถ้าหากแอมป์ไม่มีกำลังสำรองเพียงพอจะขับลำโพงที่มี Load impedance ต่ำๆ ในขณะของบางช่วงความถี่ เสียงที่ออกมาก็จะเครียดหรือเพี้ยนในขณะที่สัญญานสวิงไปสูงสุด เบสไม่มีกำลัง ไม่มีไดนามิค ซาวน์สเตจจะสับสนไม่ชัดเจน  ในขณะที่แอมป์ที่มี output current ดีๆ (กำลังสำรอง)  จะสามารถให้เสียงเบสที่ลึก แน่น มีพลัง ให้ซาวน์สเตจที่เคลียร์ ภาพวงไม่สับสน ไม่ว่าจะเป็นช่วงที่คนตรีกำลังสวิงเต็มที่ก็ตาม

ดังนั้นในการฟังทดสอบว่า แอมป์ขับลำโพงไหวหรือไม่ ให้ฟังช่วงโหมประโคมของ Full Scale Orchestra หรือ  ช่วงการสวิงของ Big Band หรือ  การฟาดกลอง Taiko ของญี่ปุ่น  เสียงที่คุณได้ยิน  แสดงอาการอะไรให้เห็นบ้างไหมว่า  แอมป์ขับลำโพงไม่ไหว ? หรือขับได้ไม่เต็มประสิทธิภาพ เท่าที่ควรจะเป็น ?

ถ้าคุณใช้ลำโพงที่มี Load impedance ค่อนข้างราบเรียบในทุกย่านความถี่ คุณก็อาจจะไม่จำเป็นต้องหาแอมป์ที่มีกำลังสำรองสูงๆ มาใช้ แต่หากว่าไม่ใช่ กราฟที่เห็นแสดงการลดลงของ Load Impedance ในบางช่วงความถี่อย่างมีนัยสำคัญ ถ้าเช่นนั้นคุณก็จะต้องหาแอมป์ที่มีกำลังขับที่เพียงพอ และมี Output current ดีๆมาใช้แทนครับ

(แอมป์ที่มีกำลังสำรองดีๆ อาจดูได้จากสเปค ที่แอมป์สามารถเพิ่มกำลังขับได้ 1 เท่าตัว เมื่อ impedance ลดลง เช่น 100W @8 Ohm, 200W @4 Ohm, 400W @2 Ohm เป็นต้น)

3. ขนาดของห้องฟัง
ยิ่งห้องฟังมีขนาดใหญ่ คุณก็ต้องการกำลังขับของแอมป์สูงขึ้น คำณวนโดยหยาบๆคือ ทุกๆครั้งที่ปริมาตรของห้องเพิ่มขึ้นสี่เท่า คุณจะต้องการกำลังจากแอมป์เพิ่มขึ้นเท่าตัว เพื่อที่จะได้ระดับเสียงที่ดังเท่ากัน ในห้องนั้นๆ

4. คุณนั่งฟังห่างจากลำโพง มากน้อยแค่ไหน 
ในประเด็นนี้ มีความสัมพันธ์กับขนาดห้องฟัง และ การ Setup ลำโพงของคุณด้วยว่า คุณ Setup แบบ Near field หรือ Far Field ?   หากคุณนั่งใกล้ ก็จะได้ยินเสียงที่ดังกว่า การไปนั่งฟังในตำแหน่งที่ไกลกว่าครับ

5. สภาพอคูสติคของห้องฟังของคุณ
ถ้าหากห้องของคุณมีวัสดุซับเสียงมาก คุณก็จะต้องการกำลังขับจากแอมป์สูงขึ้นเช่นกัน โดยทั่วไป ห้องฟังไม่ควรมีสภาพที่ dead หรือซับเสียงมากเกินไป มีข้อแนะนำผิดๆมากมายในสมัยก่อน ซึ่งมีการบอกให้ใช้วัสดุซับเสียงมากๆ ปัจจุบันคำแนะนำที่ถูกต้องคือ ใช้วัสดุซับเสียงเฉพาะจุดที่ต้องการ และให้น้อยที่สุด  ให้มี และ ติดตั้งใช้ เท่าที่จำเป็นเท่านั้นครับ

6. คุณฟังเพลงดังแค่ไหน ฟังเพลงแนวอะไร  
ยิ่งฟังดังก็ต้องการแอมป์กำลังมากๆเท่านั้น  ยิ่งฟังเพลงที่มีการโหมประโคม  มี Impact Dynamic ที่กระแทกกระทั้น  คุณก็ยิ่งต้องการกำลังสำรองของแอมป์ให้มีมากเพียงพอเท่านั้น  แต่หากคุณฟังเพลงอย่าง Chamber Music  แอมป์ใหญ่ๆ กล้ามโตๆ ก็อาจไม่ใช่สิ่งจำเป็นสำหรับคุณครับ ดังนั้น คุณจะต้องถามตัวคุณเองว่า คุณต้องการ Target SPL (Sound Pressure Level) อยู่ที่เท่าไร ครับ ?

ทั้งหมดนั้น เป็นปัจจัย ที่คุณต้องพิจารณาประกอบกันทั้งหมด  ในการเลือกซื้อ Power Amp เครื่องหนึ่งๆ ให้กับลำโพงของคุณครับ จะเห็นได้ว่า อ่านมาตั้งนาน…. ผมก็ยังไม่มีคำตอบที่เป็นสูตรสำเร็จง่ายๆ ให้กับคุณเลย

มันเป็นเรื่องจำเป็นครับว่า.. คุณจะต้องศึกษา และ ทำความเข้าใจ ใน system ของคุณให้ถ่องแท้ เข้าใจความต้องการของตัวคุณเองเป็นอย่างดี แล้วจึงนำข้อมูลทั้งหมดนั้น มาพิจารณาด้วยตัวคุณเองอีกครั้ง แล้วจึงค่อยคัดเลือก แอมป์ ที่เข้าข่ายข้อกำหนดที่คุณต้องการ แล้วจึงค่อยออกไปตระเวณฟังทดสอบ ด้วยตัวเอง

ดังนั้น คำถามที่ว่า กี่วัตต์ดี ? นั้น….
คนที่ตอบได้ มีคุณเพียงคนเดียวครับ ที่จะตอบได้ถูกต้องแน่นอนครับ