DIY Audio Shelf

P1040044
ชั้นวางเครื่องเสียง มีหลายแบบ หลายราคาให้เลือก มีแนวคิดต่างๆกันไป แต่จุดประสงค์หลักจะเหมือนกันคือ เพื่อการวางที่มั่นคง ลดแรงสั่นสะเทือนลงให้น้อยที่สุด ไม่ทำให้เกิดการกวนกันระหว่างเครื่อง และระบายความร้อนได้ดี

หากท่านใด มีงบประมาณสูงๆ ก็ง่ายครับ มีชั้นวางราคาหลายๆหมื่น หรือ หลายๆแสนให้เลือกซื้อ… แต่หากท่านใด สนใจชั้นวางราคาประหยัด ทำเองได้ และ ได้ผลดี ลองอ่านบทความนี้ดูครับ

ชั้นวาง ในแง่ของการระบายความร้อน และ ป้องกันการกวนกันระหว่างเครื่องนั้น เราแก้ได้ง่ายๆครับ ด้วยการเว้นระยะห่างระหว่างชั้น อย่าวางเครื่องซ้อนกันตรงๆ และ เปิดช่องว่างไว้รอบทิศ ทั้งด้านบน และ ด้านข้าง เพียงเท่านี้ ก็แก้ไขปัญหาดังกล่าวได้แล้ว

แต่พอมาประเด็นเรื่องของความมั่นคง และ ลดแรงสั่นสะเทือน จะเป็นเรื่องที่ซับซ้อนมากขึ้น

แนวคิดเรื่องความมั่นคงมีหลายแนวทาง เช่น ใช้น้ำหนักทำให้นิ่ง หรือ ให้เบาและแกร่ง หรือ กรอกทรายเข้าไป บ้างใช้เหล็ก บ้างใช้ไม้ ฯลฯ

ส่วนการลดแรงสั่นสะเทือน ก็มีตั้งแต่การใช้ทราย การใช้อากาศ การใช้แม่เหล็ก การใช้สปริง ฯลฯ.

สำหรับชั้นวาง DIY ที่ผมทำนั้น ใช้แนวคิดที่ว่า ประการแรก จะทำให้ชั้นวางมั่นคง ด้วยน้ำหนักก่อน หลังจากนั้น จึงใช้ กระบะทราย และ Vibrapod , Vibrapod cone ประกอบกัน เพื่อลดแรงสั่นสะเทือนที่จะเกิดขึ้น

P1040061

ตัวชั้นวาง ลอกแนวความคิดของ Michael Green มา โดยชั้นวาง จะทำจากไม้ MDF ที่มีความหนา ประมาณ 1 นิ้ว เสาของชั้นวางทำจาก stud ที่มี diameter 1 นิ้ว และมีความยาว 1 m. มีเกลียวตลอดความยาว หาซื้อได้ตามร้านขายสกรูทั่วไป ราคาไม่แพงครับ ผมจำราคาแน่นอนไม่ได้แล้ว แต่คงแค่ ร้อย-สองร้อยต่อชิ้น โดยอาจจะเลือกแบบ สแตนเลส หรือ เป็นเหล็กก็ได้ครับ

เมื่อได้มาแล้ว ก็ไปจ้าง โรงกลึง กลึงปลายด้านหนึ่งให้แหลม แบบนี้นะครับ

P1040051

ซื้อน๊อตมาด้วย โดยซื้อน๊อตจำนวน 8 ตัว ต่อ 1 ชั้น ตอนที่ซื้อให้ทดลองหมุนน๊อตไปตลาดความยาว เพื่อเช็คความเรียบร้อยด้วยครับว่า ติดขัดอะไรหรือไม่ ? ตัว stud มีแบบสแตนเลส ครับ แต่ น๊อตไม่มีครับ มันก็เลยเป็นสนิมหน่อยๆ แหะๆ…

P1040046

แล้วทำชั้น ตามจำนวนที่ต้องการ ได้ตามใจชอบ โดยชั้นนี้ เลือกได้นะครับว่า อยากใช้วัสดุอะไร ไม้ MDF ไม้จริง หินธรรมชาติ หรือ อะครีลิค ขอเพียงให้เป็นวัสดุที่มีน้ำหนักมากสักหน่อย เพราะเราต้องการให้ชั้นนิ่ง โดยอาศัยน้ำหนักของชั้นวางเองครับ ผมเคยเห็นของคนทำขายสมัยก่อน ทำเลียนแบบนี่แหละครับ แต่ก๊องแก๊งมาก เพราะใช้ชั้นวางบางๆที่หนาเพียง 10 mm. พอวางมันก็จะโยกเยกไปมาได้ง่ายๆ

P1040067

ที่ผมทำ จะเป็นไม้ MDF ประกบกันสองแผ่น เพื่อให้หนา และ หนักขึ้น ทากาวยึดกันให้แน่น แล้ว ทำขอบให้มน ทาสีดำครับ อันนี้ จ้างช่างเขาทำครับ ใช้เงินไม่เยอะ เพราะแผ่น MDF แผ่นหนึ่ง ไม่กี่ตังค์ ค่าจ้างช่าง ก็ไม่เท่าไร เพราะเป็นงานง่ายๆครับ

เจาะรู ที่มุม 4 มุม มุมละ 1 รู Diameter 1 นิ้ว และ อาจจะต้องฝนให้กว้างขึ้นอีกนิด เพื่อให้สอด stud เข้าไปได้โดยสะดวก แต่ก็ต้องระวังอย่าให้รูกว้างเกินไปจนหลวม เพราะจะทำให้ชั้นวางคลอนแคลน โยกเยกได้ครับ

การประกอบ ก็ง่ายมาก เพียงวาง เสา stud 4 เสา ใส่น๊อตรองรับไว้ 4 อัน แล้วสวมชั้นวางลงไป ใช้ระดับน้ำวัด แล้วปรับน๊อต จนกว่า ที่ชั้นวางจะได้ระนาบโดยสมบูรณ์ เสร็จแล้ว ขั้นน๊อตลงไปอีกตัว เพื่อประกบชั้นวางเอาไว้ ขันน๊อตให้แน่นหนา เพียงเท่านี้ ก็จะเสร็จไป 1 ชั้นแล้ว ทำซ้ำขบวนการขั้นต้น ไปจนครบทุกชั้นที่ต้องการ

P1040047

ส่วนระยะห่าง ระหว่างชั้น เราสามารถปรับสูงต่ำได้ตามต้องการ ซึ่งเป็นข้อดีอีกอย่างของชั้นวางในแนวคิดนี้ ทำให้เราปรับระยะห่างได้ตามความเหมาะสมจริงๆ และ หากเรามีการเปลี่ยนแปลงในอนาคต เราก็สามารถปรับระยะห่าง ระหว่างชั้น ได้เสมอ ไม่ตายตัวเหมือนชั้นวางในแนวคิดอื่นๆครับ

P1040040

เมื่อเราประกอบชั้นเสร็จทุกชั้นแล้ว ก็จะได้ชั้นวางมาแบบนี้ครับ ชั้นจะมีความหนาแน่นมั่นคง ด้วยน้ำหนักของแผ่นไม้แต่ละชั้น และ น้ำหนักของตัว Stud เอง เสร็จแล้วจะไม่ก๊องแก๊ง โยกเยก เหมือนที่เขาเคยทำขาย (ในราคาหลายพัน)

P1040043

ขั้นต่อไป คือ การลดแรงสั่นสะเทือนครับ ซึ่งก็มีอุปกรณ์ที่ทำเองได้ง่ายๆ ราคาประหยัดให้เลือกใช้ อย่าง กระบะทราย เป็นต้น กระบะทรายนี่ ไม่ต้องไปซื้อแพงๆนะครับ ทำเองดีที่สุด ผมซื้อของ BrightStar มาราคาตั้งหลายพัน ดูๆแล้วก็งั้นๆ ไม่เห็นมีอะไรซับซ้อน ก็กล่องไม้ ใส่ทรายลงไป ก็แค่นั้นครับ ผมทำกระบะทรายมา เพื่อเป็นแท่นวาง Turn Vpi ครับ โดยทำเป็น สองกระบะ สำหรับ มอเตอร์ อันหนึ่ง และ สำหรับ Turn อีกอันหนึ่งครับ

P1040045

P1040053

ทราย ก็เลือกซื้อได้ตามใจชอบนะครับ ขอให้เป็นทรายเกรดดีหน่อย ไปซื้อตามวัสดุก่อสร้างนี่แหละ ไม่ต้องไปซื้อแพงๆ ขอให้เป็นทรายเนื้อละเอียดสักนิด และ มีความสะอาด เอามาตากแดดให้แห้ง แล้วใส่ลงไปในกระบะ เกลี่ยให้เรียบ และ เสมอ ได้ระดับ แล้ววางแผ่นไม้ MDF ลงไป (เช่นกัน จะเป็นแผ่นหิน หรือ อะครีลิค ก็ได้)

กระบะทราย นอกเหนือจะช่วยซึมซับ แรงสั่นสะเทือนทั้งหลายแล้ว ยังจะช่วยเพิ่มน้ำหนักให้ชั้นวางของเรา มีความมั่นคงแข็งแพงเพิ่มขึ้นอีกครับ (โครงการต่อไป ผมกำลังจะทำชั้น อะครีลิคมาเพิ่ม เพื่อใช้ Vibrapod หนุน turn เข้าไปอีกชั้นหนึ่ีงครับ

นอกจาก กระบะทรายแล้ว เราจะเลือกใช้อะไรก็ได้ครับ ที่เราอยากจะลองใช้ ไม่ว่าจะเป็น Tip Toe เบาะอากาศ เบาะแม่เหล็ก เลือกได้อิสระเสรีมาก แต่ที่ผมเลือกใช้ในชุดของผมคือ Vibrapod และ Vibrapod Cone ครับ

P1040068
vibrapodcone
vibrapodtop

อุปกรณ์ทั้งสองชิ้นนี้ มีราคาประหยัด และ ทำงานได้ผลอย่างมาก อยู่ในวงการมาหลายสิบปี และ ติด Recommended Components ของ Stereophile มาโดยตลอด ผมอยากจะเชื่อว่านี่เป็น Vibration isolator ที่คุ้มค่าที่สุดในท้องตลาดครับ ผมใช้ ทั้ง Vibrapod และ Vibrapod Cone หนุน Pre Pass Aleph P ไว้ครับ

ซื้อ Vibrapod ได้ที่นี่ครับ

P1040043

เพียงเท่านี้ครับ ง่ายๆ ทำเองได้ ยิ่งใครมีฝีมือทางช่าง มีเครื่องมือ ยิ่งประหยัดมากขึ้นไปอีก ชั้นวางในแนวคิดนี้ ผมคิดว่า เป็นตัวเลือกดีที่สุดครับ ประหยัด และ ดีกว่า ชั้นวางที่เขาทำออกมาขายๆกันมาก แต่ราคาถูกกว่าเยอะครับ แนะนำจริงๆครับว่า เหมาะกับนักเล่นตั้งแต่ระดับ เริ่มต้นเล่นมาเลย ไปจนถึงระดับสูงก็ได้

ผมยืนยันนะ ถ้าชั้นวางต่ำกว่า 5 หมื่นลงมา
ทำเองเถอะครับ ไม่ต้องไปซื้อหรอก
ชั้นวาง DIY นี้ รองรับอนาคตได้ทุกรูปแบบ

ซื้อเครื่องเพิ่ม ทำชั้นเพิ่ม 1 ชั้น ไม่ต้องขายทิ้ง
เปลี่ยนเครื่อง แล้ว หนาขึ้น หรือ บางลง ปรับระดับชั้นใหม่ตามต้องการได้ทันที ไม่ต้องขายทิ้ง
อยากจะลอง สารพัดอุปกรณ์เสริม ที่จะช่วยลดแรงสั่นสะเทือน ทำได้ตามใจต้องการเสมอ…

แต่.. สำหรับ เหล่า Hi-End จริงๆนั้น ก็คงมีทางเลือกอื่นครับ อย่างชั้นวางของ Stillpoint เขาก็บอกว่า ดีมาก แต่ก็เตรียมงบไว้ด้วยนะครับ เพราะเห็นว่า ค่าตัวของมันนั้น แลกรถเก๋งได้สักคันหนึ่งทีเดียว

สำหรับเราๆท่านๆทั้งหลาย ที่ไม่อยาก อึตามช้าง.. ก็ลองพิจารณา ชั้นวาง D.I.Y. โครงการนี้กันครับ ผมคิดว่า คุ้มค่าอย่างยิ่งจริงๆครับ