Audio Research PH-3

USD$ 1,500

Audio Research PH-3

(ขายแล้วเมื่อ 16/8/2559)

Phono Preamp ตัวนี้ผมซื้อเป็นของมือสองมาใช้ในราคาที่น่าพอใจ ด้วยความอนุเคราะห์ของเพื่อนนักเล่นรายหนึ่งที่ช่วยดูสภาพเครื่อง และช่วยไปซื้อเครื่องชิ้นนี้ไว้ให้ผม ก่อนที่มันจะหายแว๊บไปไหน ผมต้องขอขอบพระคุณไว้ ณ ที่นี้ด้วย เพราะลำพังตัวผมเองคงไม่มีปัญญาจะไปจับเครื่องมือสอง สภาพดีๆ ไว้ได้ทันกาลแน่ๆ รีวิวจะตามมาทีหลังครับ

คุณคาดหวังอะไรมากไหมกับการเปลี่ยน phono-preamp ครับ ผมเองไม่ค่อยคาดหวังอะไรมากนัก จากการเปลี่ยน phono-preamp ตัวเก่า Audio Alchemy Vac in the box ไปเป็น Audio Research PH3 ผมคิดว่ามันดีขึ้นแน่ แต่ก็คงไม่ก้าวกระโดดมากนัก

ผล – ผมคิดผิดครับ

PH3 เป็น Phono-preamp ที่ออกแบบวงจรเป็นแบบ Hybrid คือมีการใช้ทรานซิสเตอร์และหลอดผสมกันอย่ในวงจร มันมี Gain ที่ตายตัว ปรับเปลี่ยนอะไรไม่ได้ แต่เราสามารถปรับ impedance ได้ด้วยการ เปลี่ยนค่าตัวต้านทานในแผงวงจรของมัน ซึ่งโดยทั่วไป ไม่ใช่สิ่งจำเป็นที่จะต้องทำ และค่อนข้างยุ่งยากนิดหน่อย เพราะต้องใช้วิธีบัดกรีที่แผงวงจรโดยตรง
ผมได้ PH3 เครื่องนี้ มาจากร้าน VIS audio ซึ่งมีเพื่อนคนหนึ่งช่วยซื้อไว้ให้ เพราะผมเคยพูดให้เขาฟังนานแล้วว่า ผมจะอัพเกรด Phono Preamp และผมสนใจ PH3 มาก มากพอๆกับ Conrad Johnso EF1 ซึ่งผมต้องขอขอบคุณเพื่อนคนนี้ไว้ด้วย เพราะหากด้วยลำพังตัวผมเอง ผมคงไม่มีโอกาสได้เครื่องนี้มาใช้แน่ เพราะผมอยู่ต่างจังหวัด ห่างจากแหล่งขายสินค้ามาก ของออกมาในตลาดผมก็จะไม่รู้ ต่อให้รู้ กว่าผมจะไปกรุงเทพ เครื่องก็คงโดนคนอื่นซื้อไปเสียก่อนแล้ว

ตัวเครื่องเรียบๆง่ายๆ มีสวิทช์ on/off หนึ่งอัน อีกสวิทช์หนึ่งเป็น muting เพื่อตัดเสียงตอนที่เรายกหรือวางหัวเข็มลงบนผิวแผ่นเสียง หลังจากเปิดเครื่องต้องรอประมาณ หนึ่งนาทีครึ่ง เครื่องจึงจะพ้นสภาพ stand by เข้าสู่ภาวะ on คู่มือแจ้งว่าต้องอุ่นเครื่องไว้ประมาณ 1 ชั่วโมง หากต้องการคุณภาพที่ระดับสูงสุดของมัน ด้านหลังมี single end in/out ให้สองคู่ ไม่มี Balance in/out แต่อย่างใด สายไฟเป็นแบบติดมากับเครื่อง ถอดเปลี่ยนไม่ได้ ผมวาง PH3 บนชั้นวางเครื่อง เสียบสายไฟ ต่อสายสัญญานจาก Turn มาเข้า PH3 และต่อจาก PH3 ไปยัง Pass Alep P เปิดสวิทช์ให้เครื่องอยู่ในสภาวะ standby รอ หนึ่งนาทีครึ่ง เท่านี้ผมก็พร้อมจะลองฟังมันแล้วครับ

ผมลองฟัง PH3 ด้วย Turn Rega planar3 หัวเข็ม Sumiko blue point special เนื่องจาก sumiko BPS นั้นเป็นหัวเข็ม MC high output จึงทำให้ Gain ของ PH3 ค่อนข้างจะสูงไปสักนิดสำหรับหัวเข็มหัวนี้ ผมจึงจำเป็นต้องซื้อหัวเข็มใหม่เป็น Benz-Micro Glider low output มาเตรียมสำรองไว้ แต่จะยังไม่ใช้ เพราะผมต้องการสังเกตุผลของเสียงที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงอุปกรณ์เพียงชิ้นเดียว ว่ามีผลเช่นไรบ้าง
พูดถึงประเด็นนี้ ผมค่อนข้างงงๆ กับการทดสอบเครื่องของนิตยสารเครื่องเสียงของไทยนะครับ ผมรู้สึกว่าเขาเก่งจริงๆแฮะ คือ บางทีผมเห็นการทดสอบเครื่องนั้น แทบจะเปลี่ยนอุปกรณ์ทุกชิ้นใน system พร้อมๆกัน แต่ผู้ทดสอบยังสามารถบอกได้ว่า บุคลิกเสียงเฉพาะเครื่องที่ต้องการเขียนเป็นอย่างไร ดีขึ้นอย่างไร บอกได้ยังไงไม่เข้าใจ ผมเห็นจะต้องยอมรับว่าตัวเองไม่มีปัญญาจะทำได้ขนาดนั้น สำหรับผมแล้ว การทดสอบเครื่องเสียงนั้น ผู้ทดสอบน่าจะมี system ที่เป็น Reference อยู่ แล้วเปลี่ยนทีละชิ้นเท่านั้น เพื่อสังเกตุการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น

นั่นเป็นเหตผลที่ผมยังใช้ BPS ในการฟังทดสอบครั้งนี้ และอันที่จริงแล้ว ถ้จะใช้ BPS คู่กับ PH3 ผมก็คิดว่า มันไม่ได้ถึงขนาด mismatch แต่อย่างไร มันสามารถนำมาใช้ร่วมกันได้ โดยไม่มีข้อเสีย เพียงแต่ว่า หากคุณใช้ PH3 กับหัวเข็มที่เป็น Low output น่าจะให้ผลของเสียงโดยรวมออกมาดีกว่า ใช้กับ BPS เท่านั้นเอง

เสียงเป็นไงมั่ง?

ดีขึ้นครับ ในทุกๆด้าน และไม่ใช่น้อยๆ แต่มากจนรับรู้ได้ในทันทีที่ฟังครั้งแรก ถ้าถามว่าผมประทับใจในสิ่งใดมากที่สุด เห็นจะต้องบอกว่าเป็นเสียงเบสครับ ผมค่อนข้างประหลาดใจทีเดียว เพราะผมไม่ได้คาดหวังว่า เครื่องที่มีการใช้หลอดอยู่ในวงจรเช่นนี้ จะช่วยปรับปรุงคุณภาพของเสียงเบสได้มากขนาดนี้

เบสที่ได้จาก PH3 เป็นเบสที่ลึก สะอาด หนักแน่น และมีรายละเอียดดีกว่า vac in the box ชนิดที่เรียกว่าคนละเรื่อง คนละเบอร์ คนละระดับเลยครับ เฉพาะคุณภาพเสียงเบสที่ดีขึ้นอย่างเดียว ผมก็รู้สึกคุ้มค่าแล้ว สำหรับการจ่ายเงินซื้อมันมาใช้ มันสามารถทำให้ผมสามารถติดตามการเล่นของมือเบสในแต่ละเม็ด แต่ละโน้ต ได้ง่ายขึ้นมาก และจากเสียงเบสที่จมๆอยู่ใน soundstage PH3 สามารถทำให้เสียงเบสในทุกๆแผ่นที่ผมฟัง มีตำแหน่งตัวตนของมันชัดเจนขึ้นมากๆ

ฟังจากแผ่น Speak of the Devil ของ Ozzy (ผมทราบ ผมทราบ… แต่ผมเป็นแฟนเพลง Heavy และแผ่นนี้ก็อัดเสียงมาพอใช้ได้) ผมไม่เคยได้ยินเสียงเบสสจาก Rudy sarzo ได้ชัดและดีขนาดนี้มาก่อนเลย และจากทุกๆแผ่นไม่ว่าจะเป็นร๊อค คลาสสิค หรือ แจ๊ส PH3 ปรับปรุงคุณภาพเสียงเบสได้ดีจนประทับใจผมอย่างยิ่ง ไม่ว่าจะเป็นแผ่นของ Clair Marlo, Harry James หรือ James Newton Howard ไม่ว่าจะเป็นเสียงของ Double Bass หรือ เบสของกีตาร์ไฟ้า ล้วนแต่ให้เสียงเบสที่ “ปึ๊ก” มากขึ้นมากๆ

นี่เป็นสิ่งที่ทำให้ผมประหลาดใจ เพราะผมเก็งๆว่า ผมน่าจะประทับใจที่สุดกับด้านเสียงกลาง เสียงแหลมของมัน หรือ อาจจะเป็นในด้านของ Focus , soundstage ของมันมากกว่าที่จะเป็นเสียงเบสเช่นนี้ นั่นทำให้ผมต้องคิดใหม่ว่า จริงหรือที่เครื่องที่มีหลอดอยู่ในวงจร จะให้คุณภาพของเสียงเบสสู้เครื่องที่ใช้วงจรแบบ solid stage ไม่ได้เสมอไป ผมเห็นจะต้องคิดใหม่แล้วครับ

มาพูดกันถึงเรื่องของเสียงกลาง มันให้เสียงกลางที่ดีมาก โดยเฉพาะเสียงร้องจากหลายๆแผ่น เช่น The Waeavers หรือ Belafonte ล้วนแต่มีความเคลียร์มากขึ้น มีความฉ่ำของเสียงมากขึ้น เนื้อเสียงเนียนมากขึ้น โดยเฉพาะในแผ่น Belafonte สปีด 45 นั้น เสียงร้องดีมากจริงๆ ผมคิดว่ามันเป็นแผ่นที่ให้เสียงร้องของผู้ชายได้ในระดับที่ใช้เป็นแผ่นอ้างอิงได้เลย ดีที่สุดแผ่นหนึ่งเท่าที่ผมได้มีโอกาสฟัง Focus ของเสียงก็เป็นอีกสิ่งที่ดีขึ้นด้วย ตำแหน่งของเสียง มีความเคลียร์มากขึ้น ซึ่งนั่นเป็นเพราะมันดีขึ้นทั้งในด้าน Focus และ Soundstage ด้วย

Soundstage ที่ดีขึ้นนั้น มันดีขึ้นในแง่ที่ว่า เป็น 3 มิติมากขึ้น ลึกขึ้นบ้างแต่ไม่ถึงกับต่างจากของเดิมมากๆ แต่ก็ดีขึ้นชัดเจน ในด้านที่ไม่ต่างกัน เห็นจะเป็นขนาดความกว้างของ soundstage ผมพบว่ามันยังคงเท่าเดิมอยู่ อย่างไรก็ตาม ผลที่ได้เป็นที่น่าพอใจ เพราะผมพบว่าโดยรวมแล้ว มันใสขึ้น ตำแหน่งของชิ้นดนตรีชัดเจน แยกแยะชัดเจน และมีขนาดรูปวงที่ดีกว่าเก่า

ในด้านเสียงแหลม ผมพบว่าประกายของเสียงแหลมสามารถไปได้ไกลกว่าเก่า เมื่อทดลองฟังจากแผ่น Upfront นั่นทำให้บรรยากาศของเสียงดีขึ้น รายละเอียดของหางเสียงดีขึ้น เกิดอาการเสียงออก “ซิปๆ” น้อยกว่า vac in the box สำหรับในด้านของ micro dynamic และ Macro Dynamic ก็ดีขึ้นด้วย

ผมคิดว่า ผมเขียนบทวิจารณ์เครื่องในครั้งนี้ได้ไม่ดีเลย เพราะสิ่งที่ผมเขียนได้ทั้งหมด คือ เสียงดีขึ้น ผมรู้สึกผิดที่ไม่สามารถบอกคุณได้ว่า PH3 มีจุดอ่อนอยู่ที่ตรงไหน ผมไม่รู้จะติมันที่ตรงไหนจริงๆ อาจจะเป็นเพราะผมไม่ได้มีโอกาสฟัง Phono preamp ที่มีคุณภาพที่ดีกว่านี้มาก่อน แต่คุณก็ทราบว่า การขอทดลองฟัง Phono Preamp ในเมืองไทยนั้น เกือบจะเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้เลย

แน่นอน มันไม่ยุติธรรมแน่ๆ เพราะผมกำลังเทียบ Phono preamp ราคา $1,500 กับ Phono preamp ที่มีราคาประมาณสองร้อยเหรียญเท่านั้น มันก็ต้องดีขึ้นแน่นอนอยู่แล้ว แต่ผมก็ยังต้องให้เครดิตกับ vac in the box ว่าเป็นเครื่องราคาประหยัดที่มีคุณภาพคุ้มค่า ค่าตัวของมันอย่างยิ่ง อย่างน้อยตลอดเวลาที่ผมใช้มันมา มันไม่ได้ทำให้ผมรู้สึกแย่กับเสียงดนตรีที่ได้ยินแต่อย่างไร ผมตัดสินใจที่จะเก็บมันลงกล่อง และเอามันไว้ดูเล่นโดยไม่ได้คิดจะขายมันแต่อย่างไร

หลังจากที่ผมใช้ Audio Research PH3 มาระยะหนึ่ง หากคุณจะถามผมว่า

– เสียงเป็นไงหากเทียบกับเครื่องที่มีราคาใกล้ๆกันอย่าง Acoustec หรือ EAR

– เสียงที่ว่าดี หากเทียบกับเครื่องที่แพงกว่าอย่าง Audio Research PH3SE, Conrad Johnson Premier 15, Pass Ono หรือ แม้กระทั่งแพงมากๆอย่าง Audio Research Reference Phono ผมคิดว่ามันจะต่างกันแค่ไหน คุ้มไหมที่จะไปซื้อรุ่นที่แพงกว่านี้

คำตอบคือ ไม่ทราบ และ ไม่ทราบครับ เพราะผมไม่เคยมีโอกาสฟังเปรียบเทียบแต่อย่างไร

ที่ผมทราบคือ
ถ้าถามผมว่า ผมมีความสุขกับ Phono preamp ตัวใหม่นี้ไหม
ตอบ – มีครับ และอย่างยิ่ง

ถ้าถามว่า ผมคิดว่าราคาที่ผมซื้อมา 32,000 ในฐานะเครื่อง Used นั้น ผมคิดว่าคุ้มค่าไหม
ตอบ – ยิ่งกว่าคุ้มครับ เครื่องของผมสภาพดีทีเดียว และรู้สึกว่าจะหายากที่ PH3 จะหลุดออกมาในตลาด Used ต้องขอบคุณบุคคลที่ช่วยดักซื้อเครื่องชิ้นนี้ไว้ให้ผมอย่างยิ่งครับ

แล้วถ้าในราคาที่เป็นของใหม่ ซึ่งอาจจะสูงกว่า 60,000 บาทนั้น คิดว่าคุ้มไหม
ตอบ – ผมว่าก็ยังถือว่าคุ้มนะครับ แต่ดีที่สุดในวงเงินขนาดนั้น และดีที่สุดเมื่อเทียบกับคู่แข่งหรือไม่ ผมไม่ทราบครับ ส่วนราคาของใหม่จะเป็นเท่าไรแน่ ผมก็ไม่ทราบเหมือนกัน ไปถาม KS กันเอาเองครับ คำตอบในข้อนี้ เป็นแค่ความรู้สึกส่วนตัว โปรดใช้วิจารณญานในการอ่าน

ถ้าเทียบกับวงเงินประมาณ 60,000 ให้เลือกซื้อระหว่าง Tube Trap 3 แท่ง กับ PH3 ซื้ออะไรดีกว่า
ตอบ – ถ้าหากคุณมี Analog source อยู่ใน system ของคุณ ผมคิดว่า PH3 เป็นตัวที่คุณควรเลือกครับ เพราะมันช่วยปรับปรุงคุณภาพเสียงเบสได้ดีอย่างยิ่ง ดีจนผมประหลาดใจมากๆเลยครับ Tube Trap เอาไว้ซื้อทีหลังตอนที่คุณมีเงินเหลือก็ได้ ให้ซื้อ PH3 ก่อน เพราะมันช่วยปรับปรุงคุณภาพของเสียงเบสได้มากกว่าการซื้อ Tube trap มาใช้ครับ

ผมจะหยุดการอัพเกรด Phono preamp ไว้แค่นี้ไหม
ตอบ – ตอนแรกผมก็ตั้งใจว่าแค่นี้พอแล้วเหมือนกัน แต่พอได้ยินความแตกต่างจากการอัพเกรด Phono preamp ในครั้งนี้ ผมชักโลเลแฮะ มันเกินกว่าที่ผมคาดไว้มากๆ ผมไม่คิดว่า Phono preamp จะทำความแตกต่างให้ออกมาได้ขนาดนี้ แต่คงพักไว้สักระยะหนึ่งก่อน หลังจากนั้นในอนาคต ผมอาจจะอัพเกรดมันเป็น PH3 SE หรือ ทดลองฟังเครื่องในระดับที่ดีขึ้นไปอีก สำหรับตอนนี้ ผมพอใจกับคุณภาพเสียงของมันมากครับ

สรุป
ผมยังคงมั่นใจเหมือนเดิมว่า LP เสียงดีกว่า CD ยิ่งผมเปลี่ยน Phono preamp ครั้งนี้ ทุกอย่างก็ยิ่งชัดขึ้น ช่องว่างความแตกต่างของคุณภาพเสียงมีขนาดกว้างขึ้นไปอีก ผมยังคงเก็บเงินเพื่อซื้อ Turntable ตัวใหม่ พร้อมด้วย Arm ใหม่ โดยไม่หวั่นไหวกับการมาถึงของ SACD ผมยังชอบเสียงของ Analog ยังชอบการที่จะได้เล่นแผ่นเสียง ผมยังมีความสุขกับการหยิบแผ่นเสียงขึ้นมาเล่น มาดูเสมอ ตอนนี้ Analog source ของผม ก็เหลือแต่ Turntable+Arm เท่านั้นที่ยังคงเป็นจุดอ่อนที่สุดใน system ของผม วันใดก็ตามที่ผมได้ VPI Aries หรือ TNT (ไม่เชื่อก็อย่าลบหลู่นะครับ ที่ผมบอกว่าจะซื้อ TNT น่ะ.. ฮ่าๆ…) พร้อม Tonearm Graham 2.0 ผมจะกลับมาเล่าให้คุณๆฟังอีกครั้งหนึ่ง ถึงความสุขของเสียงดนตรี ที่ถ่ายทอดผ่านมาด้วย Analog source ชั้นยอดครับ แล้วเจอกันแน่นอนครับ ไม่นานเกินรอ

PH3 / PH3 SE Specifications:

FREQUENCY RESPONSE: ±.15dB of RIAA, 10Hz to 60kHz; 3dB points below 0.5Hz and above 400kHz.

DISTORTION: Less than .005% at .50V RMS 1kHz output.

GAIN: 54dB at 1kHz (MC & MM compatible).

INPUT IMPEDANCE: 47K ohms and 90pF Unbalanced. (Provisions for any value below 47K ohms or added input capacitance for matching certain magnetic cartridges.)

OUTPUT IMPEDANCE: 200 ohms Unbalanced. Recommended load 50K-100K ohms and 100pF. (10K ohms minimum and 2000pF maximum.)

MAXIMUM INPUTS: 60mV RMS at 1kHz (240 mV RMS at 10kHz).

RATED OUTPUTS: .50V RMS 10Hz to 60kHz, 100K ohm load (output capability is 30V RMS output at 1/2% THD at 1kHz).

POWER SUPPLIES: Electronically-regulated low and high voltage supplies. Line regulation better than .01%.

NOISE: 0.1uV equivalent input noise, IHF weighted, shorted input (80 dB below 1mV 1kHz input).

TUBE COMPLEMENT: (3) 6922/E88cc dual triodes with JFET input. Solid state power supply.

POWER REQUIREMENTS: 100-135VAC 60Hz (200-270VAC 50/60Hz) 28 watts maximum. Line fuse 0.6A SLO BLO (0.3A SLO BLO 230V).

DIMENSIONS: 19″ (48 cm) W x 5.25″ (13.4 cm) H (standard rack panel) x 10.25″ (26 cm) D. Handles extend 1.50″ (3.8 cm) forward of front panel. Rear chassis fittings extend .75″ (2.2 cm).

WEIGHT: 10 lbs. (4.5 kg) Net; 19 lbs. (8.6 kg) Shipping.

Specifications subject to change without notice.