Audio Grade หรือ “ตกเกรด” กันแน่ ?



วันนี้… ผมดูคลิปรีวิว อุปกรณ์ไฟฟ้า ที่ผู้รีวิว ย้ำคำว่า “Audio Grade” ซ้ำๆ ถี่ๆ อยู่แทบตลอดเวลา….
ทั้งๆที่ ดูปราดเดียว ก็จะรู้ว่า อุปกรณ์ชิ้นนั้น เป็นของที่มีคุณภาพต่ำอย่างชัดเจน….

อะไรคือ “Audio Grade” ?

Audio Grade เป็นเพียง คำศัพท์ ทางการตลาด ที่ใช้เพื่อ ส่งเสริมการขายสินค้าครับ !
ไม่ได้เป็น มาตรฐานอุตสาหกรรม ที่ได้รับการยอมรับในวงกว้างแต่อย่างใด…
และ ถูกใช้อยู่ในวงแคบๆของ วงการเครื่องเสียงเท่านั้น

จุดเริ่มต้นของคำว่า Audio Grade นั้น มีจุดเริ่มมาจาก ผู้ผลิตปลั๊กไฟ ในวงการเครื่องเสียง เป็นคนตั้งขึ้น..
ซึ่งแต่เดิมนั้น ในวงการอุตสาหกรรม และ ที่พักอาศัยนั้น อุปกรณ์ปลั๊กไฟฟ้าที่เราใช้ๆกันอยู่ จะถูกแบ่งออกเป็น

1. Resident Grade
Grade นี้ คือ อุปกรณ์ที่เราใช้ๆกันอยู่ เป็นมาตรฐาน ตามบ้านพักทั่วๆไป เช่น ปลั๊กไฟ เต้ารับผนัง ที่มีขายตามร้านไฟฟ้า หรือ ร้านขายอุปกรณ์ของใช้ในบ้านต่างๆ ซึ่งจะมีมาตรฐานที่เพียงพอ สำหรับผู้ใช้งานทั่วๆไปครับ ข้อดี คือ มีราคาต่ำที่สุด อย่างไรก็ตาม มีอายุการใช้งานจำกัด โดยอาจเริ่มต้นเสื่อมหลังจากการใช้งานไป ประมาณ 3-5 ปี และ ไม่เหมาะกับการใช้งาน บ่อยๆ ติดๆกัน อย่างต่อเนื่อง หรือใช้งานนานๆ โดยไม่พัก..

2. Spec Grade (Commercial Grade)
Grade นี้ ทางผู้ผลิต ทำมาเพื่อให้ใช้ในโรงงานอุตสาหกรรม และ ภาคการผลิตต่างๆ ที่ต้องการความทนทาน และ การใช้งานหนักมากขึ้น อีกทั้ง จะมีค่าทางสเปคต่างๆที่ดีขึ้น เพื่อให้เหมาะกับเครื่องจักรอุตสาหกรรม และ วงจรอิเลคทรอนิคส์ ให้สามารถใช้งานได้อย่างต่อเนื่อง ยาวนาน ในสายการผลิตต่างๆ ความทนทานในการใช้งาน อาจใช้ได้นานถึง 100 ปี ภายใต้การใช้งานโดยปกติ อุปกรณ์ที่มีการต่อใช้งานต่อเนื่องนานๆ โดยไม่หยุดพัก หากท่านใดใช้อุปกรณ์ที่มีลักษณะดังกล่าว ก็มีความเหมาะสม ที่จะใช้อุปกรณ์ไฟฟ้าในระดับ Spec Grade ครับ เช่น เครื่อง Computer หรือ NAS เป็นต้น

3. Hospital Grade
Grade นี้ ผลิตขึ้นมา ให้ใช้กับอุปกรณ์ทางการแพทย์ต่างๆ ที่มีความสำคัญสูงสุด ซึ่งต้องการ ความแน่นอน ความทนทาน ต่อการใช้งาน ใช้ชิ้นส่วน และ การประกอบที่แข็งแรงเป็นพิเศษ ทนทานต่อ สารเคมี ต่างๆ ในระดับสูงสุด เพื่อให้แน่ใจว่า จะไม่มีการเสียหายขึ้นมาในระหว่างการใช้งาน อุปกรณ์ ระดับ Hospital Grade จึงมีความเหมาะสมกับ อุปกรณ์ทางการแพทย์ ที่มีความอ่อนไหว ต่อกระแสไฟมากเป็นพิเศษ ไม่ว่า หน้าสัมผัสที่ต้องหนาแน่น เพื่อให้แน่ใจว่า จะไม่มีการสปาร์คของไฟ ไม่เกิดการสะดุดของการจ่ายกระแสไฟ เกิดความเสียหาย จนไปทำให้ อุปกรณ์ทางการแพทย์ ที่มีราคาสูง เกิดความเสียหาย หรือทำงานล้มเหลว ขึ้น ดังนั้น อุปกรณ์ไฟฟ้า ที่อยู่ในระดับ Hospital Grade จะต้องมีความคงทน และ มีความคงที่ มั่นคง อยู่ในระดับสูงสุด

โดยทั่วๆไปแล้ว ผู้ใช้เกือบทั้งหมด ไม่จำเป็นต้องใช้ Hospital grade แต่อย่างใด แค่เพียงเลือกใช้ อุปกรณ์ในระดับ Resident Grade หรือ Spec Grade ก็เป็นการเพียงพอครับ ยกเว้นแต่ว่า ผู้ใช้รายนั้น มีอุปกรณ์ทางการแพทย์ เช่น เครื่องช่วยหายใจ ที่ต้องใช้งานอยู่ในบ้าน เท่านั้น จึงค่อยพิจารณา อุปกรณ์ในระดับ Hospital Grade

ต่อมา…
อุปกรณ์ไฟฟ้า ในระดับ Hospital Grade ค่อยๆแพร่หลายเข้ามา ในวงการ Audiophile เนื่องจาก เริ่มมีการให้ความสำคัญต่ออุปกรณ์ที่ใช้ในการจ่ายกระแสไฟมากขึ้น ว่ามีผลต่อภาพ และเสียง.. จึงเริ่มมีการแนะนำกันแบบปากต่อปาก ถึงผลดี ต่อภาพ และ เสียง ที่ได้จากใช้อุปกรณ์ระดับ Hospital Grade เช่น ปลั๊กไฟ เต้ารับผนัง จากผู้ผลิตชั้นนำในวงการอุตสาหกรรม เช่น Hubbell หรือ Marinco เป็นต้น

ผลการใช้งานที่ดีขึ้นจริง และ ความคิดเห็นของผู้ใช้ ที่เห็นผลแตกต่างจากการใช้งานจริง จึงค่อยๆ แพร่ขยาย แนวคิด ให้กลายเป็นที่ยอมรับ ในวงการของนักเล่นเครื่องเสียง ไปในที่สุด

เมื่ออุปกรณ์ไฟฟ้า Hospital grade ขายได้มากขึ้น…
แน่นอนครับ… ผู้ผลิตที่อยู่ในวงการเครื่องเสียงต่างๆ ย่อมเห็นโอกาสทางการตลาดอันนี้

แต่… จะทำอย่างไร ให้สินค้าของตัวเอง แตกต่าง จูงใจให้ซื้อ และ สามารถแข่งขัน กับผู้ผลิต ระดับยักษ์ใหญ่ของวงการอุตสาหกรรม และ ได้รับการยอมรับมาอย่างยาวนาน อย่าง Hubbell ได้ ?

ความพยายาม สร้าง จุดขายที่แตกต่าง จึงเกิดขึ้น เช่น การชุบตัวนำ ด้วยสิ่งต่างๆ เพิ่มขึ้นมา เช่น เงิน โรเดียม หรือ การใช้ตัวนำที่อ้างว่า เป็นสเปคพิเศษที่ดีขึ้น ตลอดจน การออกแบบ ให้มีการใช้วัสดุที่ ดูหรูหรา สวยงาม ดูมีราคาแพงเข้ามา เพิ่มขึ้น เพื่อที่จะสร้างแรงจูงใจ ให้ตลาด หันมาใช้ อุปกรณ์ไฟฟ้า เหล่านี้

ซึ่งในระยะแรก ผู้ผลิตเหล่านี้ ก็อาจจะเริ่มต้นจาก ไปซื้อ หรือ ไปจ้าง Hubbell หรือ Marinco ให้ทำการผลิตสินค้าให้ ภายใต้ สเปคพิเศษ ที่กำหนดไว้ หรือ… แม้แต่ในบางกรณี ก็อาจเป็นการ เอาสินค้าดั้งเดิม มาขายในสภาพเดิม อย่างดื้อๆเลยก็มี แค่เปลี่ยนยี่ห้อ เปลี่ยนถุงเท่านั้น เช่น กรณีที่เอา Marinco 320 IEC มาเปลี่ยนถุงเป็น ยี่ห้อ ——– 320- IEC plug แล้วขายในราคาที่สูงกว่าเดิมเยอะเป็นต้น

ดังนั้น… เมื่อจะมีการ ขายสินค้า ที่มีราคาสูงขึ้น (ทั้งๆที่บางกรณี ไม่มีอะไรแตกต่างทาง กายภาพ หรือ สเปค เลยก็ตาม) จึงจำเป็นอย่างยิ่ง ที่จะต้องมีการตั้งศัพท์ทางการตลาดขึ้นมาเป็นการเฉพาะ เพื่อสร้างการรับรู้ การจดจำ และ เพื่อสร้างการยอมรับขึ้นมา ในหมู่ผู้บริโภค

คำว่า… Audio Grade จึงถือกำเนิดขึ้น
โดยที่ ในวงการอุตสาหกรรม ไม่ได้รับรู้ ถึงการแบ่งเกรดเป็น Audio Grade นี้เลย..
เป็นเพียงศัพท์ทางการตลาด ที่เกิดขึ้นในวงการเครื่องเสียงเท่านั้น…

มีความจริงอยู่ว่า… ในแง่ของคุณภาพแล้ว สินค้า Audio Grade บางยี่ห้อ บางรุ่น ก็ให้คุณภาพที่ดีกว่า และ แตกต่างจริง ด้วยการปรับปรุงวัสดุ หรือ การออกแบบต่างๆ แต่ก็ต้องแลกมาด้วยราคาจำหน่าย ที่สูงขึ้นไปจากระดับ Hospital Grade อีกหลายเท่าตัว ในแง่ของความจำเป็น และ ความคุ้มค่าแล้ว.. ย่อมเป็นเรื่องที่แต่ละท่าน จะต้อง เป็นผู้ทดลองใช้ และ พิจารณา ตัดสินใจ ในการเลือกซื้อหามาใช้งานด้วยตัวเอง…. ว่า มีความคุ้มค่าหรือไม่ ? และ เหมาะสมกับ System ที่ใช้อยู่หรือไม่ ?

ไม่ว่าอย่างไรก็ตาม คำว่า “Audio Grade” ก็ได้ถูกใช้กันอย่างกว้างขวาง และ กลายเป็นคำศัพท์ ที่ได้รับการยอมรับไปในวงการเครื่องเสียงไปในที่สุด หลังจากที่มีการโปรโมทคำว่า Audio Grade ไปเป็นระยะเวลาหนึ่ง คำศัพท์คำนี้ ก็เริ่มได้รับการ อ้างถึง และ ใช้อ้างอิง อย่างกว้างขวางมากขึ้นไปเรื่อยๆ….

จนถึงเดี๋ยวนี้… มีการใช้ศัพท์คำว่า Audio Grade พร่ำเพรื่อกันมากขึ้น และ อาจนำไปใช้กับอุปกรณ์ประเภทอื่นๆ โดยไม่ได้จำกัดสำหรับอุปกรณ์ทางไฟฟ้า อีกต่อไปครับ

สินค้าอะไรก็ตาม ที่ผู้ขาย ต้องการสื่อว่า มีคุณภาพดีกว่า ปกติ ก็จะโฆษณา โดยใช้คำว่า “Audio Grade” มาอ้างอิง
แล้วก็สามารถทำการขายได้ในราคาที่สูงขึ้น….

และ… ด้วยการแข่งขันที่รุนแรงในตลาด… ผู้ขายบางราย ที่ขายสินค้าคุณภาพต่ำ ก็เริ่มอ้างอิงคำว่า “Audio Grade” มาใช้ด้วยเช่นกัน โดยไม่ได้สนใจ แม้กระทั่งว่า มาตรฐานการผลิตของอุปกรณ์ชิ้นนั้นๆ อยู่ในระดับใด ? คุณภาพจริงๆ เป็นอย่างไร ? ซึ่งจริงๆแล้ว บางกรณี อาจจะสู้ อุปกรณ์ระดับ Resident grade ของผู้ผลิตมาตรฐาน ไม่ได้ด้วยซ้ำไป….

แต่เพียงเพราะ.. อ้างว่า ชุบโน่น ชุบนี่ ทำหน้าตาให้ ดูหรูหรา สวยงาม.. ก็สามารถอ้างคำว่า Audio Grade ได้แล้ว..
และ… แม้แต่ ปลั๊กไฟ ราคาถูกๆ แค่ 100-200 บาท เดี๋ยวนี้ ก็ขายกันโดย อ้างว่า เป็น “Audio Grade” ด้วยเช่นกันครับ

ดังนั้น… ในแง่ของผู้บริโภค จำเป็นอย่างยิ่ง… ที่จะต้อง ค้นหาข้อมูล และ คิด พิจารณา จากเหตุผล ต่างๆว่า คำอ้างต่างๆ ศัพท์แสงต่างๆ ที่ได้รับรู้มานั้น มีความน่าเชื่อถือเพียงใด ? เป็นไปได้หรือไม่ ที่จะมีการผลิต สินค้าคุณภาพสูงสุด ดีที่สุด แล้วขายได้ในราคาเพียง 100-200 บาท แล้ว แปะคำว่า “Audio Grade” กันตามใจชอบ เช่นนี้ ?

นี่… ยังไม่ได้พูดถึง “ของปลอม” ซึ่งแพร่หลาย กระจายอยู่เต็มตลาดไปหมด อย่างในปัจจุบัน….

ซึ่งหากเป็นเพียงกรณี สายสัญญาน หรือ สายลำโพง ซึ่งไม่เกิดอันตรายในการใช้งาน ก็ไม่เป็นไร เพราะ กรณีเลวร้ายที่สุด ก็เพียงแต่ทำให้ ได้ภาพ และ เสียง ที่ไม่ดีเท่านั้น

แต่.. สำหรับกรณี อุปกรณ์ทางไฟฟ้า อย่าง ปลั๊กไฟ สายไฟ เต้ารับผนัง และ อุปกรณ์ทุกชนิดที่ใช้ในวงจร กระแสไฟฟ้านั้น หากมีคุณภาพต่ำ อาจเป็นอันตรายต่อชีวิต และ ทรัพย์สินของผู้ใช้งานได้ ในที่สุด



ดังนั้น… การเลือกซื้อ อุปกรณ์ทางไฟฟ้า จึงจำเป็นอย่างยิ่ง ที่ จะต้องซื้อจาก ผู้ผลิตที่มีความน่าเชื่อถือ มีมาตรฐานสูง
เลือกซื้อจากผู้แทนจำหน่าย ที่ซื่อตรง และให้ข้อมูลที่เป็นจริง ไม่โกหก หลอกลวง ลูกค้า

ผู้ซื้อ จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้อง ให้ความสำคัญ กับความปลอดภัยในการใช้งานเป็นสำคัญ เป็นสิ่งแรก
ไม่ว่า สินค้าชิ้นนั้น จะเป็น Hospital Grade หรือ Audio Grade หรือไ่ม่ก็ตาม….

เมื่ออ่านพบคำว่า Audio Grade ในปัจจุบันนั้น ผู้ซื้อจึงควรใช้วิจารณญานให้มากๆ ในการซื้อมาใช้งานครับ
เพราะในเวลานี้ ทุกๆคน สามารถอ้างว่า ของที่ขายเป็น Audio Grade ได้ทั้งสิ้น
ทั้งๆที่จริงๆแล้ว… อาจจะเป็นของ “ตกเกรด” เท่านั้นเองครับ


ภาพตัวอย่าง ของ “ตกเกรด” ที่ซื้อขายกันอยู่ในตลาดครับ