DIY เครื่องล้างแผ่นเสียง ultrasonic cleaner

ระบบ Ultrasonic Record Cleaner

ขอขอบพระคุณ คุณ Karin Preeda และ คุณ Vichien Numm แห่ง กลุ่ม ThaiAVclub ซึ่งเป็นคนคิด และ รวบรวม แนะนำ ช้ินส่วนต่างๆ และ วิธีการทำเครื่องล้างแผ่นเสียง Ultrasonic Cleaner ด้วยตัวท่านเอง มา ณ ที่นี้ด้วยครับ

วิธีและเครื่องมือในการล้างแผ่นเสียงนั้น มีหลากหลายรูปแบบ และ อุปกรณ์ ตัวผมเอง ลองมาหลายๆอย่าง หลายๆวิธี และ หลายปีที่ผ่านมานั้น ผมเริ่มเห็นคนแนะนำการล้างแผ่นเสียงด้วยเครื่อง Ultrasonic Tank ว่า เป็นวิธีที่ให้ผลดีที่สุด ดีกว่าทุกๆวิธีที่มีอยู่ จึงทำให้ผมเกิดความสนใจ และ คิดจะหามาใช้งานสักเครื่อง

ปัญหาคือ.. ราคาของมันครับ
พวกสำเร็จรูป มียี่ห้อนั้ัน ราคาปาเข้าไป ร่วมแสนห้าหมื่นบาท ผมเห็นว่าราคาสูงไปมาก จึงไม่ได้ซื้อเครื่องสำเร็จรูปครับ

หลังจากนั้น ก็เริ่มมีกลุ่ม DIY เร่ิมแนะนำเรื่องการซื้อ Part ต่างๆมาประกอบเอง เพราะ Ultrasonic Tank นั้น ไม่ได้เป็นสิงลึกลับอะไร มีการใช้งานมานานแล้วในงานอุตสาหกรรม หรือ พวกเครื่องประดับต่างๆ ปัญหายังคงอยู่ทีระดับราคาของ Tank ไม่ได้ถูกครับ ราคายังคงอยู่ที่ประมาณ สามหมื่นกว่าเฉพาะ Tank และ ชุดขับเคลื่อนแผ่น ก็ยังมีราคาประมาณ 1-2 หมื่นบาท นั่นจึงทำให้ราคาของเครื่องล้าง Ultrasonic ยังคงสูงถึง 50,000 บาท +/- อยู่ดี

แต่แล้วในที่สุด ทางคุณ Vichien Numm และ คุณ Karin Preeda ก็ได้กรุณา แนะแหล่งซื้อส่วนประกอบต่างๆ และ วิธีการทำชุดขับเคลื่อนแผ่นเสียง มาให้ครับ ซึ่งทำให้งบประมาณของเครื่องล้างแผ่นเสียง Ultrasonic นั้น ราคาลดลงมาเหลือแค่ประมาณ 5-6 พันบาทเท่านั้นเองครับ และเมื่อรวมทุกๆส่วนแล้ว งบลงทุนน่าจะไม่เกินหนึ่งหมื่นบาทครับ

บทความนี้ จะเป็นการอธิบาย หลักการทำงาน แหล่งในการซื้อส่วนประกอบ วิธีประกอบเครื่อง วิธีผสมน้ำยาล้างแผ่นเอง และ วิธีใช้งาน ให้ดูอย่างละเอียดครับ

ทำไม Ultrasonic จึงดีที่สุด ?
วิธีเก่าๆในการล้างแผ่นเสียงนั้น มักจะเป็นการใช้แปรง ถูลงไปที่แผ่น ซึ่งมันก็ทำงานได้ดีพอสมควร ผมเองก็ใช้เครื่องของ Vpi มาโดยตลอด มันก็ช่วยได้มากนะครับ อย่างไรก็ตาม ไม่ได้สะอาดหมดจด เพราะไม่ว่าอย่างไร ขนแปรงก็ไม่สามารถลงไปได้ลึกจนถึงก้นร่องของแผ่นเสียงอยู่ดี ในขณะที่ Ultrasonic นั้น เป็นการส่งคลื่นเสียงโดยใช้น่้ำเป็นสื่อกลาง ให้เข้าไปกระแทกให้ ทุกส่ิงในร่องแผ่นเสียง หลุดออกมาจนหมดจด เพราะต่อให้เป็นส่วนไหนของร่องเสียง น้ำก็จะเข้าถึง และ สามารถเข้าไปกระแทกให้สิ่งเหล่านั้น หลุดออกมาได้จนหมดครับ ผู้ใช้งานต่างๆ ต่างก็ยืนยัน และ แนะนำ ว่า Ultrasonic คือวิธีที่ดีที่สุด ในการทำความสะอาดแผ่น แม้กระทั่ง Harry เจ้าของ Vpi ซึ่งผลิตเครื่องล้างแผ่นของตัวเองขายอยู่แท้ๆ ก็ยังแนะนำว่า เท่าที่เขาได้ลองมา Ultrasonic ดีที่สุดครับ แต่เขาไม่ได้คิดจะทำเครื่อง ultrasonic มาขาย เพราะมองว่า เครื่องแบบนี้ สามารถทำขึ้นมาใช้เองได้โดยง่าย

ส่วนประกอบต่างๆของเครื่องมีอะไรบ้าง ?
1. ระบบล้างแผ่น Ultrasonic Tank
2. ระบบขับเคลื่อนแผ่น ให้หมุนไปอย่างช้าๆ
3. ระบบกรองน้ำยา เพื่อหมุนเวียนนำกลับมาใช้ไหม่ได้เรื่อยๆ
4. ระบบทำให้แผ่นเสียงแห้ง หลังจากการล้างแผ่นแล้ว
5. น้ำยาที่ใช้ล้างแผ่นเสียง

ระบบล้างแผ่น Ultrasonic Tank
ส่วนนี้ เคยเป็นส่วนที่มีราคาสูงที่สุดครับ ผมไม่เคยเห็นเครื่องไหนมีราคาต่ำกว่า สามหมื่นบาท เลย จนกระทั่ง คุณ Vichien Numm ได้แนะนำร้านขาย Ultrasonic Tank จากประเทศจีนให้ผมทราบ ราคามันเพียงแค่ประมาณ 5,500 บาทเท่านั้นครับ (รวมค่าส่งมาไทยแล้ว แต่ยังไม่รวมภาษีนำเข้า) ซึ่งต้องขอบคุณ คุณ Vichien Numm มากอีกครั้งหนึ่ง เพราะหากยังคงหา Tank ราคาถูกไม่เจอ โครงการนี้ ก็จะไม่มีวันเกิดขึ้นเลยครับ

ผมเอง เลือกขนาด 10 L เพราะผมต้องการล้างแผ่นเสียงครั้งละ 4 แ่ผนพร้อมๆกันครับ และ ผมต้องการพื้นที่ สำหรับการวางท่อยาง สำหรับระบบกรองน้ำยาด้วยครับ ผมจึงต้องการพื้นที่ใน Tank ที่ใหญ่ขึ้นสักหน่อย แต่หากท่าน ไม่ได้ต้องการสองสิ่งนี้ ก็อาจจะเลือกเป็นขนาด 6.5 L ก็ได้ครับ ราคาก็จะถูกลงบ้างครับ อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าคุณจะเลือกรุ่นไหน ขอให้มั่นใจว่า ขนาดภายใน Tank จะต้องมีขนาดใหญ่เพียงพอที่จะรองรับแผ่นเสียงได้ดีนะครับ

ในการสั่งงาน Tank สิ่งที่จะต้องดูแลคือ
1. อุณหภูมิของน้ำ ประมาณ 35 องศาเซลเซียส (ต้องระวังให้ดี ควรตรวจเช็คเป็นระยะๆว่า อุณหภูมิ ถูกต้อง หากสูงเกินไป แผ่นเสียงจะเสียหายได้) แนะนำให้ซื้อ เทอร์โมมิเตอร์มาด้วยนะครับ อย่าไว้ใจระบบตั้งอุณหภูมิของเครื่องเพียงอย่างเดียว โดยเฉพาะเครื่องจีนที่เราซื้อมาในราคาประหยัดนี้
2. คลื่นความถี่ ที่เลือกใช้ เครื่องราคาสูง จะเลือกความถี่ได้หลากหลาย แต่เครื่องราคาถูกที่เราซื้อนั้น มีแค่ความถี่เดียวครับ หากคุณมีงบประมาณเพียงพอ ก็อาจจะเลือกซื้อเครื่องราคาสูงได้ครับ ราคาประมาณเกือบสามหมื่น เป็นของทางฝั่งยุโรปกับอเมริกาทำขาย สำหรับเครื่องที่ผมซื้อทำงานได้ที่ 40 KHz เท่านั้นครับ ปรับความถี่ไม่ได้
3. ระยะเวลาในการล้างแผ่นเสียงใน Ultrasonic Tank มีความเห็นหลากหลายตั้งแต่แค่ 5 นาที ไปจนถึง 25 นาที ซึ่งท่านอาจจะต้องทดลองด้วยตัวเองอีกทีว่า นานเท่าไร จึงจะให้ผลดีที่สุด ? ผมเองก็คงต้องลองเช่นกันครับ หากได้ผลอย่างไร ก็เอามาแบ่งปันกันบ้างนะครับ

รายการอุปกรณที่ต้องซื้อ
(ผมให้ link พร้อมราคาไว้ แต่โปรดทราบว่า อาจเกิดการเปลี่ยนแปลงทั้งราคา และ รายการสินค้าได้เสมอ ตามแต่ทางผู้ขายต้องการครับ หากข้อมูลใดไม่ตรงกัน ขอให้คุณใช้วิจารญานในการตัดสินใจด้วยตัวเอง ไม่ต้องถามผมครับ เพราะผมก็ตอบไม่ได้เช่นกันว่า ทำไม ราคา หรือ link ถึงจะเปลี่ยนไป)

Ultrasonic Tank
VEVOR Brand New Powerful Stainless Steel Ultrasonic Cleaner 10L Liter 490W Digital Timer Heater
$123.99 จำนวน 1 ชิ้น (ค่าส่งต่างหาก)
มีบางท่านรายงานมาว่า ร้านนี้ เอาแน่เอานอนอะไรไม่ได้เรื่องราคาสินค้า ดังนั้น ท่านก็ต้องลองคุย และ ประเมินดูเองนะครับว่า ok กับราคาที่เขาบอกหรือไม่ หรือ หากท่านพบร้านอื่น ที่ขายได้ถูกกว่า ก็พิจารณาซื้อจากร้่านอื่นได้เลยครับ
https://wholesaler.alibaba.com/product-detail/VEVOR-Brand-New-Powerful-Stainless-Steel_60586625947.html?spm=a2756.order-detail-ta-ta-b.0.0.990d1a7BuYmu

ระบบขับเคลื่อนแผ่น
หัวใจคือ การหมุนแผ่นไปอย่างช้าๆ ช้าเท่าไร ? ตรงนี้ก็มีความเห็นหลากหลายเช่นกันครับ บางคนบอกว่า 3 ต่อ 10 นาที บางคนบอกว่า 1 รอบต่อ 1 นาที บางคนบอกว่า 1 รอบ ต่อ 4-5 นาที จะเป็นเท่าไรกันแน่ ? ผมคิดว่า เราทุกๆคน ก็ต้องทดลองไปพร้อมๆกันครับ แล้วก็ช่วยกันแบ่งปันความเห็น ประสบการณ์ ซึ่งความเร็วที่ว่านี้ ก็ขึ้นอยู่กับว่า เราหา Low Speed Motor ในความเร็วที่ต้องการได้ด้วยหรือเปล่านะครับ สำหรับอันที่ผมซื้อตามที่คุณ Karin Preeda แนะนำมาคือ 1.2 รอบ ต่อนาที

Low Speed Motor
DC 12V Low Speed Geared Motor 0.6RPM High Torque Turbo Worm Electric Geared DC Motor GW370 80x32x21mm
$8.98 จำนวน 1 ชิ้น (จะซื้อเผื่อสำรองเป็นอะไหล่ก็ได้ครับ)
https://th.aliexpress.com/item/DC-12V-Low-Speed-Geared-Motor-0-6RPM-High-Torque-Turbo-Worm-Electric-Geared-DC-Motor/32794283714.html?spm=a2g13.10010108.1000016.1.512c2a4ppXLry&isOrigTitle=true

พอได้มา ผมก็ทำการโม DC inlet เข้าไปครับ เพื่อให้ง่ายต่อการต่อกับ transformer ที่จ่ายไฟให้ครับ

Bearing
1pcs 8MM K305A Vertical Bearing Seat Belt Bearing Ball Bearing Bracket DIY Toys Free Shipping Russia
$2.49 each จำนวน 2 ชิ้น
Bearing นี่ จะซื้อในไทยก็ได้นะครับ แต่ต้องลองหาดูเองครับ
https://th.aliexpress.com/item/1pcs-8MM-K506-Vertical-Bearing-Seat-Belt-Bearing-Ball-Bearing-Bracket-DIY-Toys-Free-Shipping-Russia/32639130099.html?spm=a2g13.10010108.1000016.1.27aa2d82Wu9e1u&isOrigTitle=true

Coupler
3pcs CNC Motor BF Jaw spider plum Shaft Coupler Flexible Coupling D20 L25 4mm 5mm 6mm 6.35mm 7mm 8mm 10mm .25 1/4″ 8x10mm
วิธีเลือกขนาด inner diameter ผู้ขายจะระบุตัวเลือกให้เช่น 6×6.35 นั่นหมายถึง ด้านหนึ่งของ coupler จะมี inner diameter 6 mm. ในด้านหนึ่ง และ อีกด้านหนึ่ง จะมี inner diameter 6.35 mm. ดังนั้น ในการเลือกนั้น ด้านที่ติดกับ มอเตอร์ให้เลือกขนาด 6 mm. แต่ด้านที่ติดกับเพลานั้น เราจะต้องรู้ก่อนว่า มี diameter เท่าไร ผมเองหาซื้อเพลาที่มี diameter = 6.35 mm ดังนั้น ผมจะเลือกตัวเลือกเป็น 6×6.35 ครับ
$7.48 each จำนวน 1 ชุด (มี 3 ชิ้น)

ผมมี coupler เหลือเกินมาจากที่สั่งมาผิดครับ เป็นขนาด 6×6 (ใช้เพียง 1 ชุดสำหรับมอเตอร์) ขอขายเท่าทุน 230 บาทต่อชุด (คุณไม่ต้องเสียค่าส่งจากจีน) ผมจะส่งทางไปรษณีย์ลงทะเบียนให้ หากสนใจ ติดต่อผมมาทาง Line ID = POJUDOM ครับ

https://th.aliexpress.com/item/3pcs-8x10mm-CNC-Motor-BF-Jaw-spider-plum-Shaft-Coupler-8mm-to-8mm-Flexible-Coupling-D20/32328145769.html?spm=a2g13.10010108.1000016.1.1bfb9479Peu5Xk&isOrigTitle=true

แกนเพลาหมุนแผ่นเสียง
ผมซื้อจากร้านเหล็กในท้องถิ่นครับ โดยให้เลือกซื้อ เหล็กสเตนเลส เกรดดีที่สุดเท่าที่คุณจะหาได้ ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 6.35 mm. ครับ ซื้อมาสัก สองแท่งก็ได้ครับ ความยาวก็ประมาณสัก 40-45 cm. ราคาที่ผมซื้อมาสองแท่ง 35 บาทครับ (ภาพข้างล่าง เป็นการทดสอบการประกอบเข้ากับ มอเตอร์ และ coupler ครับ)

ตัวประกบ และ กั้นแผ่นเสียง
ผมใช้ที่รองแก้วของ iKea ที่ทำจากไม้คอร์ก ผสมกับจานรองแก้วพลาสติกที่ผมซื้อมาจาก Aliexpress ครับ ตรงนี้ ท่านอาจจะเลือกใช้อะไรก็ได้นะครับ ที่มีเส้นผ่าศูนย์กลางสัก 4 นิ้ว และ มีความหนาประมาณ 1-2 นิ้ว ให้เลือกซื้อ เลือกใช้ได้ตามต้องการครับ

ระบบรองรับ แกนเพลาหมุนแผ่นเสียง
อันนี้อาจจะต้องจ้างช่างทำครับ (หรือทำเอง หากท่านสามารถทำได้) ระบบรองรับแกนเพลาหมุนแผ่นนั้น เราจะทำมาครอบ Ultrasonic Tank เอาไว้ครับ ความยาว ความกว้าง ท่านจะต้องวัด และ กำหนดขึ้นมา โดยออกแบบให้สัมพันธ์กับ Tank ให้ดีนะครับ โดยเมื่อใช้งานแล้ว จะไม่ไปติดขัดการทำงานของ Tank และ กลไกการหมุนแผ่นครับ ระดับความสูงต้องพอดีกับระดับน้ำที่เราจะเติมลงไปใน tank ซึ่งผมจะลงรูปไว้ให้ดูเป็น idea ครับ เวลาทำจริง ก็พิจารณารายละเอียดเอาเองอีกทีนะครับ ผมจ้างช่างในท้องถิ่นทำให้ ในราคา 1 พันบาทครับ ทั้งค่าแรง และ ค่าของ ครับ

ระบบกรองน้ำ
ในระหว่างการทำงานนั้น สิ่งสกปรก ฝุ่นผงต่างๆ จะหลุดออกมาลอยอยู่ในน้ำ ฝุ่นผงเหล่านี้หากยังแขวนลอยอยู่ในน้ำ มันจะเป็นผลเสีย เพราะมันจะถูกกระแทกเข้ากับผิวแผ่นซ้ำๆ ซึ่งอาจส่งผลเสียต่อแผ่นเสียงในที่สุด ครั้นเราจะล้างแผ่นครั้งหนึ่งแล้วเทน้ำยาทิ้งทั้งหมด ก็คงทำไม่ได้ เพราะน้ำยาที่ใช้ล้างก็มีต้นทุนพอสมควร ดังนั้น การกรองน้ำยาในระหว่างที่ทำการล้างแผ่นจึงเป็นสิ่งสำคัญ เพื่อที่จะได้นำน้ำยากลับมาหมุนเวียนใช้ใหม่ได้ตลอดการล้างแผ่นครับ และ เมื่อเราใช้น้ำยาชุดนั้นล้างแผ่นไปจนครบสักระยะหนึ่ง เราจึงค่อยเทน้ำยาชุดนั้นทิ้ง แล้วผสมน้ำยาชุดใหม่ลงไปใน Tank ครับ และ อย่าลืมตรวจสอบไส้กรองด้วยนะครับ หากถึงเวลาที่ต้องเปลี่ยน ก็เปลี่ยนด้วยครับ ไส้กรองที่เราใช้ จะต้องกรองได้ถึงระดับ 1 Micron นะครับ จะสูงกว่านั้นไม่ได้ครับ ปั้มน้ำก็ต้องมีแรงดันมากพอ ที่จะทำให้ทำงานได้ดี กับไส้กรองที่ความละเอียดดังกล่าวด้วย

ส่วนประกอบ
FILTER HOUSING
Thicken 5 inch Water Filter Housing Transparent Bottle Water Filter Parts Pore size1/2″ or 1/4″ for RO system
$20.55 จำนวน 1 ชิ้น
https://th.aliexpress.com/item/Thicken-5-inch-Water-Filter-Housing-Transparent-Bottle-Water-Filter-Parts-Pore-size1-2-or-1/32797421610.html

PP FILTER 1 Micron
5 inch x 2.5inch 1 Micron Reverse Osmosis Water System Filter PP Sediment Filter Cartridge
$10 Each จำนวน ตามแต่ต้องการ เพราะต้องมีการทิ้งไปเมื่อใช้งานไประยะหนึ่ง
https://th.aliexpress.com/store/product/5-inch-x-2-5inch-1-Micron-Reverse-Osmosis-Water-System-Filter-PP-Sediment-Filter-Cartridge/915382_32798516997.html?spm=a2g13.12010108.1000016.1.7bd7c15eoDBg6m&isOrigTitle=true

Water Pump
New Mini DC12V 3m 240L/H Brushless Motor Submersible Water Pump Home G08 Drop ship
$3.83 จำนวน 1 ชิ้น
รายการนี้ ผมรอของนานมากครับ ประมาณ 2 เดือนได้ กว่าจะได้ของครับ
https://th.aliexpress.com/item/New-Mini-DC12V-3m-240L-H-Brushless-Motor-Submersible-Water-Pump-Home-G205M-Best-Quality/32810010753.html?spm=a2g13.10010108.1000016.1.74f02f45MOnWZq&isOrigTitle=true

Transformer 12V DC
Transformador 12V Power Supply for SMD 3528 LED Strip Light Adapter 220V 110V to 12 V EU US UK AU Cord Plug Charger Transformers
$4.9 จำนวน 2 ชิ้น (สำหรับมอเตอร์ 1 ชิ้น และ ปั้มน้ำ 1 ชิ้น)
https://th.aliexpress.com/item/12V-2A-Power-Supply-for-SMD5050-SMD3528-LED-Strip-Lights-Adapter-EU-US-UK-AU-Cord/1913659893.html?spm=a2g13.10010108.1000016.1.5d11e2faGDwnQl&isOrigTitle=true

ท่อยางส่งน้ำขนาด 1/4 นิ้ว และ ตัวลดขนาดข้อต่อให้ลงมาเป็น 1/4 นิ้ว
หาซื้อตามร้านประปา หรือ วัสดุก่อสร้างทั่วไปในท้องถิ่นครับ
ความยาว ขึ้นอยู่กับการจัดวางอุปกรณ์ สำหรับตัวลดข้อต่อ ก็ต้องแน่ใจนะครับว่า เกลียวจะพอดีกันกับเครื่องกรองน้ำ และ ultrasonic tank ครับ

สำหรับการประกอบระบบกรองน้ำ ก็ง่ายๆตามนี้ครับ จากท่อน้ำทิ้งของ Tank เราต่อไปยังปั้มน้ำครับ

จากปั้มน้ำ เราต่อท่อไปเข้า เครื่องกรองน้ำครับ

และจากเครื่องกรองน้ำ เราก็ต่อท่อไปลงที่ Tank ใหม่ เพียงเท่านี้ก็จะครบรอบในการดูดน้ำจาก tank ไปทำการกรอง แล้วนำกลับมาใช้ใหม่ใน Tank ครับ

ในครั้งแรกที่เราต่อระบบกรองน้ำ หรือ ตอนที่เราถ่ายน้ำยาออกทั้งหมด แล้วต้องการเติมน้ำยาใหม่เข้าไป เราจะพบว่า มีอากาศค้างอยู่ในระบบ ทำให้ ปั้มน้ำไม่ทำงาน วิธีแก้คือ ให้หงายถังกรองน้ำยาขึ้น แล้วเปิดสวิทช์ใ้ห้ปั้มน้ำทำงาน ปั้มน้ำจะปั้มน้ำไล่อากาศเข้ามาในระบบ รอดูให้น้ำเข้ามาในถังกรองจนเต็ม จึงปิดสวิทช์ แล้ว คว่ำถังกรองน้ำยาลง แล้วจึงใช้งานต่อไปตามปกติครับ

ระบบทำให้แผ่นเสียงแห้ง
หลังการล้าง จะยังคงมีคราบน้ำติดอยู่ที่ผิวแผ่น ซึ่งเราจะต้องทำให้น้ำดังกล่าวหมดไปครับ ซึ่งเท่าที่ผมเห็น เขานิยมทำกันอยู่สามวิธีครับ
1. ดูดน้ำออกให้แห้ง
2. ใช้ลมเป่าไล่่น้ำออก
3. ปล่อยแผ่นทิ้งไว้ ให้แห้งไปเอง (วิธีนี้ ต้องระวังเรื่อง น้ำยาที่แห้งนั้น จะทิ้งคราบ หรือ ส่งผลอย่างไรบ้าง ต้องทดลอง และ ระวังเองนะครับ เพราะผมไม่ได้ทดลองในวิธีนี้)
4. ปั่นแผ่นให้หมุน เพื่อสลัดน้ำออก เหมือนเครื่องซักผ้า

สำหรับผมเองนั้น ผมมีเครื่องล้างแผ่น VPI อยู่แล้ว ซึ่งมีฟังก์ชันในการดูดน้ำออกจากผิวแผ่นอยู่ในตัว ดังนั้น ผมก็จะใช้เครื่องของ VPI ในการดูดน้ำออกให้แห้งครับ แต่สำหรับท่านที่ไม่ได้มีเครื่องของ Vpi อยู่ ก็อาจจะพิจารณาทำระบบลมเป่าไล่น้ำ ขึ้นมาเองก็ได้ครับ แต่ท่านต้องศึกษา และ ออกแบบ ด้วยตัวท่านเอง เพราะผมไม่ได้ใช้่ระบบลมเป่า ผมจึงไม่มีรายละเอียด และ ไม่มีคำแนะนำว่า จะต้องใช้อะไรบ้าง และ ประกอบเครื่องอย่างไรครับ ให้ลอง Google หาคำแนะนำ และ ใน youtube ก็จะมีคลิปสอนเรื่องพวกนี้อยู่ครับ

น้ำยาทำความสะอาดแผ่นเสียง
ผมคิดว่า ส่วนผสมหลักที่เป็นน้ำนั้น เราใช้น้ำที่ได้จากเครื่องกรองน้ำดื่มๆทั่วๆไป ก็เพียงพอครับ บางทานอาจจะบอกว่า จำเป็นต้องใช้น้ำจากเครื่องกรอง RO แต่โดยส่วนตัวผมคิดว่าไม่จำเป็น เพราะพอเราเริ่มต้นล้างแผ่น ฝุ่นผงต่างๆก็หลุดออกมา จนน้ำนั้น สกปรกอยู่ดีครับ ไม่มีทางที่จะสะอาดได้ ผมจึงคิดว่า ใช้น้ำจากเครื่องกรองน้ำดื่ม ผสมกับ ส่วนผสมต่างๆ ก็เป็นการเพียงพอแล้วครับ แต่เราต้องมีระบบกรองน้ำมาประกอบด้วยนะครับ

สำหรับสูตรน้ำยานั้น มีฝรั่งแชร์มาแบบนี้ครับ
0.13% Tergitol S-15-3 and S-15-9 in a 50/50 proportion (or use Triton X-100 as a simpler alternative)
0.10% Hepastat 256 (a 1:1000 dilution)
5.00% isoprophyl alchohol (using 91% grade)
ที่เหลือเป็นน้ำกรองสะอาดครับ

โดยที่ Tirton เป็นน้ำยาลดแรงตึงผิว และ Hepastat นั้นใช้เพื่อฆ่าจุลลินทรีย์ทั้งหลายในน้ำ ปัญหาของสูตรนี้คือ ผมหาซื้อ Hepastat ในไทยไม่ได้ครับ ผมจึงต้องหันไปใช้สูตรอื่นแทน ดังนี้ครับ

100% ของน้ำยาล้างแผ่น จะประกอบด้วย
90% น้ำสะอาด
ที่ผ่านเครื่องกรองน้ำดื่ม
10% isopropyl Alcohol 99%
20 หยด น้ำยาล้างจาน
 (ต่อน้ำยาทั้งหมด 10 ลิตร)

ส่วนผสมน้ำยานั้น มีคำแนะนำจากผู้ใช้ ให้ผสม isopropyl Alcohol อยู่ระหว่าง 5-20% ซึ่งท่านเอง อาจจะลองดูว่า ที่สัดส่วนเท่าไร จะให้ผลได้ดีที่สุด สำหรับผมเอง ผมพบว่า ที่ 10% ให้ผลดีที่สุดครับ ส่วนหากมากกว่านี้ ก็ไม่มีผลเสีย แต่ก็ไม่มีผลบวกเช่นเดียวกัน แต่มันจะทำให้เปลือง isoproply Aocohol มากขึ้นครับ ดังนั้น ผมจึงใช้ที่สัดส่วน 10% ครับ

สิ่งที่ยังขาดก็ยังคงเป็น Hepastat จึงทำให้ผมไม่แน่ใจว่า นานๆไปจะมีจุลลินทรีย์ เกิดขึ้นมาในน้ำยาที่ผมใช้ล้างแผ่นเสียงหรือไม่ ซึ่งหากเกิดขึ้น มันก็อาจจะไปทิ้งคราบที่แผ่นเสียงของผมได้ ทางแก้ทางเดียวก็คือ ต้องทิ้งน้ำยาทั้งหมดแล้วผสมใหม่ขึ้นมา ซึ่งจะทำให้เปลืองเงินครับ

ในการผสมน้ำยานั้น คุณจะต้องหาก่อนนะครับว่า ระบบของคุณ ต้องใช้นำทั้งหมดเป็นปริมาตรเท่าไร ด้วยการเติมน้ำธรรมดาเข้าไปในระบบ จนระดับน้ำขึ้นมาถึง lead out ของแผ่นเสียง เสร็จแล้วก็ให้ถ่ายน้ำทั้งหมดออก แล้วทำการวัดหาปริมาตรของน้ำทั้งหมดนั้น อย่างของผมใช้นำทั้งหมดในระบบ 10 ลิตร ดังนั้น ผมก็จะผสมน้ำยาดังนี้ครับ
น้ำสะอาด 9 ลิตร
Isopropyl Alcohol 1 ลิตร
น้ำยาล้างจาน 20 หยด (ควรหยดลงในขวดที่มีน้ำยาอยู่ แล้วเขย่า หรือ คน ให้ส่วนผสมเข้ากัน ก่อนเทลง tank ครับ)

เพิ่มเติม – หลังจากใช้งานไปสักระยะ ผมพบว่า น้ำยาใน tank จะระเหยไปเรื่อยๆ ทำให้ระดับน้ำยา ต่ำลง ทำให้ต้องมีการเติมน้ำยาเป็นระยะๆ ดังนั้น ในการผสมน้ำยา ให้ผสมเผื่อๆเอาไว้ได้เลยครับ เพราะยังไง ก็ต้องเติมน้ำยาลงไปเรื่อยๆอยู่แล้วครับ

สำหรับแหล่งขายน้ำยาพวกนี้ ให้ลองโทรไปหาร้าน ที่ขายอุปกรณ์ทางวิทยาศาสตร์ทั้งหลายครับ เช่น วิทยาศรม เป็นต้นครับ หรือ ลอง google ดู หากท่านใดหาเจอว่า ร้านไหนขาย Hepastat (แบบแบ่งขายนะครับ ไม่ใช่ขายเป็นถังร้อยลิตร) ข่วยบอกผมด้วยนะครับ

และสูตรน้ำยาพวกนี้ มีหลากหลายครับ ท่านอาจลอง google หาดู หรือ ทำการทดลองผสมน้ำยาสูตรต่างๆ แล้วทำการทดลองด้วยตัวท่านเองก็ได้ครับ หากได้ผลอย่างไร นำมาแบ่งปันกับสาธารณชนด้วย ก็จะดีมากครับ

ที่พักและเตรียมแผ่นเสียง
ผมทำแท่นพักแผ่นเสียงนี้ เพื่อเอาไว้ใช้ ตอนที่เอาแผ่นใส่เพลาหมุน และ ล๊อค coupler ให้เข้าที่ ตลอดจนเอาไว้ใชัพักแผ่นหลังจากล้างเสร็จด้วย เพราะจะต้องค่อยๆเอาแผ่นไปดูดน้ำออกให้แห้งทีละแผ่นครับ แท่นนี้จะช่วยให้ทำงานได้ง่ายครับ ก็ออกแบบกันเอง ทำกันเองนะครับ ไม่ได้ยากอะไรครับ

เพิ่มเติม

ผมได้ทำที่พักแผ่นเสียงขึ้นมาอีกอัน ที่พักแผ่นเสียงแบบนี้ จะให้ความสะดวกมากกว่า เวลาที่เราจะเอาแผ่นเสียง สวมเข้าไปในแกน หรือ เอาแผ่นเสียงออกมาจากแกน จึงแนะนำให้ทำที่พักแผ่นเสียงแบบนี้ ขึ้นมาอีกอันหนึ่งครับ แล้วใช้งานไปพร้อมๆกันทั้งสองแบบ ขึ้นอยู่กับว่า ต้องการเอาแผ่นเข้าออก หรือ ว่า ต้องการวางพักแผ่นเสียงไว้ชั่วคราวครับ

วิธีการใช้งานเครื่องล้างแผ่นเสียง

เริ่มจากการนำแผ่นเสียง มาใส่ในแกนเพลาก่อนครับ โดยผมจะล๊อค coupler ไว้ทีด้านหนึ่งในตำแหน่งที่กำหนดไว้แล้วว่า พอวางไปในอ่าง ตำแหน่งของแผ่นทั้งหมด จะอยู่ตรงกลาง

แล้วก็ใส่แผ่นเข้าไปทีละแผ่น จนครบ 4 แผ่น
คุณอาจจะใส่แผ่นเข้าไปมากกว่านี้ก็ได้นะครับ แต่ต้องระวังว่า หากแผ่นมีจำนวนมากเกินไป ระยะห่างระหว่างแผ่น อาจจะแคบเกินไป จนอาจส่งผลต่อการทำความสะอาดแผ่นได้ครับ
เมื่อใส่แผ่นครบแล้ว ก็ล๊อคด้วย coupler เพื่อให้แผ่นทั้งหมดอยู่กับที่ครับ

สวม Bearing เข้ากับปลายทั้งสองด้านของแกนเพลา
ยกแกนเพลงทั้งชุด ไปวางที่เครื่อง USC ครับ สวม Bearing ลงไปในเดือยที่ทำเตรียมไว้ล่วงหน้าแล้ว ทั้งสองด้าน

แล้วนำ มอเตอร์ มาสวมเข้ากับแกนเพลา แล้วทำการล๊อค coupler แล้วทำการเปิดมอเตอร์ให้ทำงาน สังเกตุว่า แผ่นหมุนได้เป็นปกติหรือไม่

เปิดระบบกรองน้ำให้ทำงาน
การกรองน้ำนั้น ให้เปิดทำงานไปตลอดเวลาของการล้างได้เลย นอกจากนี้ พอล้างไปสัก 1-2 ชุดแล้ว ควรทำการปล่อยน้ำไปไว้ในที่เก็บน้ำสำรองสักที่ แล้วทำการปั้นน้ำทั้งหมด ผ่านไส้กรองให้หมด เพื่อให้แน่ใจว่า น้ำทั้งหมดได้ผ่านการกรองแล้วจริงๆ หลังจากนั้น จึงค่อยเทน้ำยา กลับลงไปใน USC tank อีกทีหนึ่งครับ

กดเปิดให้ USC ทำงาน โดยกำหนด อุณหภูมิที่ 35 องศาเซลเซียส นาน 30 นาที
คุณอาจจะลองเรื่องระยะเวลาเองครับว่า นานเท่าไรถึงจะดีที่สุด แต่ผมเอง พบว่า 30 นาที ดีที่สุดครับ และ ต้องใช้เทอร์โมมิเตอร์วัดอุณหภูมิของน้ำไว้เป็นระยะๆนะครับ พยายามให้อยู่ที่ 35 องศา เพราะอุณหถูมิน้ำจะสูงขึ้นเรื่อยๆ จากการทำงานของ USC เท่าที่ผมทดลอง บางคร้งมันขึ้นไปถึง 40 องศา

หลังจากครบ 30 นาที ทำการปิดเครื่อง USC ปิดมอเตอร์ ปลดล๊อค coupler ช่วงมอเตอร์กับแกนเพลา แล้วดึงมอเตอร์ออก

ยกแกนเพลาทั้งชุดขึ้น ระวังอย่าให้แผ่นไปกระทบส่วนใดส่วนหนึ่งของ เครื่อง USC และ ตัวรองรับแกนเพลา
จะมีน้ำหยดออกมาจากแผ่น ดังนั้น อาจหาผ้าซับน้ำมารองไว้ใต้แผ่นในระหว่างที่ยกแผ่นไปที่ชุดรองรับแกนเพลาครับ

นำแกนเพลาทั้งชุดไปวางพักไว้ แล้วทำการ ปลดล๊อค coupler ดึงตัวคั่นระยะแผ่นเสียงออก

นำแผ่นไปที่เครื่อง VPI แล้วหยดน้ำกรองสะอาดลงบนผิวแผ่นให้ทั่วๆ

หลังจากนั้น ใช้แปรง กดแปรงลงทำความสะอาดผิวแผ่นประมาณ 10-15 วินาที ทั้งนี้ เพื่อทำความสะอาดครั้งสุดท้าย และ ทำการล้างน้ำยาที่เหลือตกค้างบนผิวแผ่นออก

ใช้ Vpi ดูดน้ำบนผิวแผ่นออก แล้วนำแผ่นเสียงไปเก็บเข้าซองในทันที

ถอดแผ่นเสียงออกจากแกนเพลา มาทำขั้นตอนซ้ำๆ จนหมดทุกๆแผ่น ก็เป็นอันเสร็จสิ้นครับ

หลังจากนั้น เป็นการทำความสะอาด แปรงของ Vpi ปิดฝาของเครื่อง USC เช็ดทำความสะอาดต่างๆ และ เก็บอุปกรณ์ให้เรียบร้อย สำหรับการใช้งานในครั้งต่อๆไปครับ

ผลของการใช้งาน

มาว่าถึงผลการใช้งานทีละประเด็นครับ

1. ว่าด้วยการลดเสียงรบกวน
ถ้าถามว่า USC สามารถกำจัดเสียงรบกวนได้จนหมดจด ไร้เสียงรบกวน ในทุกกรณีหรือไม่ ก็ต้องตอบว่าไม่ครับ แต่เราต้องแบ่งประเภทของแผ่นออกดังนี้
– แผ่นใหม่ สำหรับแผ่นใหม่ การล้างแผ่นด้วย USC จะได้ผลที่เงียบสนิท ไม่มีเสียงรบกวนใดๆเลย
– แผ่นเก่า สภาพดีมาก การล้างแผ่นด้วย USC ก็จะให้ผลที่เงียบสนิทเช่นกันครับ อาจจะมีเสียงรบกวนเบาๆ ในช่วงว่างระหว่างเพลงครับ ที่อาจจะได้ยินบ้าง เบาๆ
– แผ่นเก่า สภาพปานกลาง การล้างแผ่นด้วย USC จะให้ผลที่เป็นที่น่าพอใจครับ อาจจะไม่เงียบสนิท แต่เสียงรบกวน ก็จะเหลือค่อนข้างน้อยมาก และ เป็นเสียงที่เบาครับ
– แผ่นเก่า สภาพแย่ ถึง แย่มาก ในกรณีนี้ การล้างแผ่นด้วย USC ไม่ได้ช่วยอะไรนักครับ บางแผ่นผมคิดว่า มันมีปัญหาตั้งแต่ตอนที่ปั้มแผ่นแล้วว่า ใช้ไวนิลคุณภาพต่ำ หรือ เครื่องปั้มคุณภาพต่ำ ทำให้ surface noise นั้น ติดกับแผ่นมาตั้งแต่ต้น หรือ ในกรณีที่แผ่นนั้น ใช้งานมาอย่างผิดวิธี สกปรกสุด หรือ เกิดรอยขีดข่วน ในกรณีนี้ เสียงรบกวนก็จะยังคงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง และ มีระดับเสียงรบกวนที่ดังเหมือนเดิมครับ

โดยสรุป ในประเด็นเสียงรบกวน การล้างแผ่นด้วย USC ให้ผลเป็นที่น่าพอใจมากครับ ผมคิดว่า วิธีนี้ คือ วิธีที่ดีที่สุดในการล้างแผ่นเสียงแล้ว และ หากวิธีีนี้ ยังคงกำจัดเสียงรบกวนออกไม่ได้ ก็คงไม่มีวิธีอื่นใดแล้วครับ ที่จะช่วยคุณได้อีก แสดงว่า แผ่นนั้นๆมันเกินกว่าที่จะแก้ไขเยียวยาแล้วครับ

สำหรับแผ่นใหม่ หรือ แผ่นสภาพดีๆ เสียงรบกวนหายไปอย่างสิ้นเชิงทีเดียว เหมือนเปิดแผ่น CD ประมาณนั้นละครับ คือ เงียบสนิท ไม่มีเสียงรบกวนใดๆ ดังนั้น ในแง่ของการกำจัดเสียงรบกวน ผมแนะนำครับว่า ควรใช้การล้างแผ่นด้วย USC นี้ครับ

2. ว่าด้วยผลกระทบต่อคุณภาพเสียง ในด้าน ลบ
เท่าที่ผมทดลอง ด้วยการล้างแผ่นโดยที่อุณหภูมิของน้ำยาสูงไม่เกิน 37-38 องศาเซสเซียส ผมไม่พบข้อเสียใดๆให้เห็นครับ ไม่เกิดความเสียหายต่อเนื้อแผ่น หรือ ร่องเสียง ไม่มีการสูญเสียความถี่ในย่านใดๆ โดยเฉพาะความถี่สูง ก็ไม่เกิดการสูญเสียเสียงกลาง หรือ เสียงแหลมให้เห็นครับ

อย่างไรก็ตาม การคุมอุณหภูมิของน้ำยา เป็นสิ่งสำคัญ หากต่ำเกินไป การล้างก็จะไม่ได้ผล หากสูงเกิดไป แผ่นเสียงก็อาจเสียหายได้ การตรวจสอบอุณหภูมิ จึงเป็นสิ่งสำคัญ ที่ต้องคุมไว้ให้อยู่ในช่วงประมาณ 35 องศาเซสเซียสครับ

3. ว่าด้วยผลกระทบต่อคุณภาพเสียง ในด้าน บวก ผมคิดว่า มีดังนี้ครับ
– เสียงสะอาดขึ้น
คือปกติ เสียงรบกวนนั้น อาจจะมีอยู่ แต่เราอาจจะไม่ได้ยินมัน เพราะเสียงดนตรีกลบอยู่ แต่ถึงจะไม่ได้ยิน แต่เราก็จะรู้สึกว่า เสียงที่ได้ยินนั้น มันมีสากเสี้ยนจากเสียงรบกวนแฝงอยู่ การล้างแผ่นด้วย USC นั้น ช่วยตรงนี้ได้เยอะครับ เสียงที่ได้จะสะอาดขึ้นจนรู้สึกได้ เสียงเนียน สะอาดกว่าเดิมครับ

– มีฝุ่นติดปลายเข็มน้อยลงจนเห็นได้ชัด
การที่มีฝุ่นติดปลายเข็มมาน้อยลงนั้น จะช่วยลดการสึกหรอ และ ยึดอายุปลายเข็มได้ด้วยครับ นอกเหนือจากจะทำให้เสียงดีขึ้น

– ไม่ทำให้เกิดไฟฟ้าสถิตย์บนแผ่น หลังการล้างแผ่น

– ช่วยยืดอายุแผ่นเสียงได้ด้วย เพราะความสกปรกน้อยลง เป็นอันตรายต่อร่องเสียงน้อยลง

– เสียงในทุกย่านดีขึ้น รายละเอียดเสียงดีขึ้น เบส ไดนามิค กลาง แหลม รายละเอียด อะไรพวกนี้ ดีขึ้นหมดครับ

โดยสรุปคือ เสียงดีขึ้น อย่างน่าพอใจครับ เมื่อเทียบระหว่างก่อนล้าง กับ หลังล้างด้วย USC ครับ

4. ว่าด้วยระบบกรองน้ำยา
ผมพบว่า ระบบกรองนี้ ก็กรองความสกปรกได้ดีครับ โดยสังเกตุเห็นสิ่งสกปรกต่างๆ ติดอยู่ที่ไส้กรอง อย่างไรก็ตาม หลังจากล้างแผ่นไปสักระยะ ผมพบว่า สีของน้ำยาล้างแผ่น กลายจากใส ไปเป็นสีน้ำตาลเจือจางแบบอ่อนๆเรื่อๆ ซึ่งผมไม่แน่ใจว่า เกิดขึ้นจากสาเหตุใด และ ไม่แน่ใจว่า หากเปลี่ยนไปใช้เครื่องกรองน้ำที่ไส้กรองเป็น Ceramic ผลที่ได้จะเป็นอย่างไรบ้างครับ

บทสรุป

ผมคิดว่า project นี้ มีประโยชน์ต่อคนที่เล่นแผ่นเสียงทุกคน มันคุ้มค่ามากๆ และ เป็น อุปกรณ์ที่ “ต้องมี” สำหรับทุกๆท่าน อย่าไปจ้างคนอื่นล้างแผ่นให้ครับ ให้ล้างเอง ไม่มีใครที่ไหน จะรัก และ หวงแหน แผ่นเสียงที่เรามี เท่ากับ ตัวเราเองหรอกครับ

ยังไม่นับว่า ลงทุนแค่ไม่ถึงหมื่น แล้วได้ระบบล้างแผ่นเสียงที่ดีที่สุดแบบนี้ไว้ใช้ ในระยะยาวแล้ว คุ้มยิ่งกว่าคุ้มอีกครับ น้ำยาก็ซื้อมาผสมเอง ไม่ได้ยากอะไรเลย ไม่มีอะไรเป็นความลับ หรือ สูตรลับ ใดๆทั้งสิ้น มันทั้งถูก ได้ผลดี เป็นการลงทุน ที่สมควรจะลงทุนอย่างยิ่ง

นานๆไป หากเริ่มมีเซียนที่ไหน มาเพ้อเจ้อเรื่อง น้ำยาสูตรมหัศจรรย์ หรือ ระบบมหัศจรรย์พันลึก แล้วจะให้ไปจ่ายเงินเป็นหลายๆหมื่น หลายๆแสน ไม่ต้องไปสนนะครับ ทำใช้เองครับ ไม่ต้องไปซื้อแพงๆ น้ำยาก็ผสมเอง มันไม่มีน้ำยาสูตรมหัศจรรย์หรอกครับ อย่าไปให้คนอื่นหลอกฟันเอา มันอาจจะมีแค่เรื่องเครื่อง Ultra sonic เท่านั้น ที่เครื่องราคาสูง จะมีการทำงานที่หลายความถี่ให้เลือก ซึ่งผมยังไม่เคยลองว่า จะช่วย หรือ สร้างความแตกต่างอะไรขึ้นมาได้หรือไม่ ?

และไม่ต้องไปจ้างคนอื่นล้างในราคาแพงๆ ทำขึ้นมาใช้เองเลยครับ ไม่ยาก ง่ายมากๆ ผมอธิบายไว้ให้ทั้งหมดแล้วว่า ทำอะไร อย่างไร ? เครื่องนี้ จำเป็นจะต้องใช้อยู่เป็นระยะๆ นานๆไป มันคุ้มค่ากว่ามาก ที่จะทำขึ้นมาใช้เองครับ อย่าไปเสียเงินจ้างคนอื่นล้างแผ่น เขาทำแผ่นเสียหายขึ้นมา จะเป็นเรื่องที่แก้ไขอะไรไม่ได้ เราล้างเอง เราดูแลแผ่นเอง จะดีที่สุดครับ

สุดท้ายนี้หากโครงการนี้ มีประโยชน์ใดๆต่อส่วนรวม ขอยกความดีทั้งหมดให้คุณ Karin Preeda และ คุณ Vichien Nuum ตลอดจนนักเล่่นแผ่นเสียงจากทั่วโลก ทั้งที่คุยกันตาม webboard และ เขียน blog เผยแพร่ ประสบการณ์ ความรู้ ความคิดเห็นต่างๆ ครับ ขอบคุณครับ

แหล่งความรู้เกี่ยวกับ USC เพิ่มเติม

VPI Forum – Record Cleaning

The Development Of Ultrasonic Cleaning

DiyAudio.com – My version of Ultrasonic Cleaner

Rushton Paul – My DIY approch to The Ultrasonic Cleaning

clip ต่างๆใน youtube