แนะนำอุปกรณ์ในการทำความสะอาดแผ่นเสียง แบบครบวงจร

อุปกรณ์ทำความสะอาดแผ่นเสียง และ ขั้นตอนการทำความสะอาดแผ่นเสียงในประจำวันมีมากมาย จนมันดูวุ่นวาย ยุ่งยาก จนคน อาจจะไม่อยากยุ่งกับการเล่นแผ่นเสียง มันดูมากมาย ดูเปลืองค่าใช้จ่าย ไม่รู้จะซื้ออะไรมาใช้ดี มันทำงานได้ผลหรือไม่ ? มันจำเป็นที่ต้องมีหรือไม่ ?

ในบทความนี้ ผมจะเขียนแนะนำแบบสรุป และ ฟันธง ว่า ตามประสบการณ์ของผม อุปกรณ์อะไรบ้างที่จำเป็น และ ยี่ห้อไหน รุ่นไหน ที่ดี ? ซึ่งถึงแม้ผมจะไม่ได้ทดลองใช้มาหมดทุกยี่ห้อ แต่ผมก็คิดว่า ผมได้ลองใช้ และ มีประสบการณ์ เพียงพอที่จะเขียนสรุปความเห็นของผมได้

ประการแรก ผมขอสรุป อุปกรณ์กลุ่มหลักๆ ที่คุณ ควรจะต้องมีครับ ดังนี้
1. อุปกรณ์ล้างไฟฟ้าสถิตย์ที่ผิวแผ่น
2. แปรงเช็ดแผ่นแบบขนแปรงสั้น
3. แปรงเช็ดแผ่น แบบขนแปรงยาว
4. เครื่องล้างแผ่นเสียงแบบใช้ แปรงแข็ง
5. เครื่องล้างแผ่นเสียง แบบ Ultra Sonic

ในการใช้งานอุปกรณ์ทั้ง 5 กลุ่มนี้ เราแบ่งตามลักษณะการใช้งานประจำวันดังนี้ครับ
1. การเช็ดทำความสะอาดแผ่น ก่อน และ หลัง การเล่นแผ่น ทุกๆครั้ง
2. การล้างทำความสะอาดแผ่น นานๆครั้ง หลังจากที่พบว่า แผ่นเสียงมีความสกปรกมากจนเช็ดออกไม่ได้อีกต่อไป


การเช็ดทำความสะอาดแผ่น ก่อนและหลัง การเล่นแผ่น ทุกๆครั้ง
อุปกรณ์ที่เราต้องใช้ ในการทำความสะอาดแผ่นเสมอ ในทุกๆครั้งที่เล่นแผ่น คือ อุปกรณ์ล้างไฟฟ้าสถิตย์ที่ผิวแผ่น , แปรงเช็ดแผ่น แบบขนแปรงยาว และ แปรงเช็ดแผ่น แบบขนแปรงสั้นครับ

เมื่อเราเอาแผ่นเสียงออกมาจากซอง สิ่งแรกที่ต้องทำคือ ใช้ อุปกรณ์ล้างไฟฟ้าสถิตย์ที่ผิวแผ่นออกไป ทั้งนี้ เพื่อไม่ให้ฝุ่น วิ่งเข้ามาจับที่ผิวแผ่นเพิ่มเติม และ ทำให้สามารถเช็ดฝุ่นที่ติดอยู่เดิม ออกไปได้โดยง่ายครับ

อุปกรณ์ล้างไฟฟ้าสถิตย์นั้น มีหลากหลายรูปแบบ หลายยี่ห้อ หลายลักษณะ แต่ อันที่ผมเห็นว่า ราคาไม่สูงนัก และ ทำงานได้ดี ผมแนะนำให้ซื้อ Milty ZeroStat Gun ครับ การใช้งานก็ง่ายๆครับ ถือ ZeroStat ห่างจากแผ่น สัก 1-2 ฟุต แล้วเหนี่ยวไกบังคับ หลายๆครั้ง ไปทั่วๆผิวแผ่น ก็เป็นอันเสร็จสิ้นครับ

หลังจากที่ล้างไฟฟ้าสถติย์ เราก็วางแผ่น ลงบน platter แล้ว ให้เราใช้ แปรงเช็ดแผ่น แบบขนแปรงสั้น เช็ดแผ่นทันทีครับ แปรงเช็ดแผ่น แบบขนแปรงสั้น นั้น จะมีหน้าตา แบบนี้ครับ

จริงๆแล้ว ผมมีของยี่ห้อ audio technica อีกอันหนึ่ง แต่ ไม่รู้เอาไปซุกไว้ตรงไหนแล้ว เลยไม่ได้ถ่ายรูปมาให้ดู ในรูป จะมีของยี่ห้อ Discwasher กับของ Mobile Fidelity ครับ จะซื้อของยี่ห้อไหนก็ได้ครับ ใช้งานได้ดีทั้งสองอัน

วิธีการใช้ ก็ง่ายๆครับ ใช้แปรง เช็ดปาดบนผิวแผ่น ให้ฝุ่น เข้ามรวมกองกัน ที่จุดใดจุดหนึ่งของผิวแผ่น หลังจากนั้น ก็ “ตวัด” แปรง ให้เก็บฝุ่นขึ้นมา โดยที่แปรงแบบนี้ จะมีผิวที่เป็นขนเส้นสั้นๆ อยู่แบบหนาแน่น เมื่อเรา ตวัดแปรง ขนของแปรง ก็จะเก็บฝุ่นทั้งหลาย ให้ติดขึ้นมากับขนแปรงครับ (เมื่อใช้งานไประยะหนึ่ง เราจะต้องใช้แปรงสั้นๆ ปัดฝุ่นที่ติดอยู่นี้ ทิ้งไปเป็นระยะด้วยนะครับ)

แปรงแบบขนแปรงสั้นนี้ สามารถเช็ดแบบแห้งก็ได้ จะเช็ดแบบเปียก ก็ดี ครับ
หากจะเช็ดแบบเปียก ก็เพียงแต่ หยดน้ำยา ลงบนผิวแผ่น แล้วปาด เช็ดผิวแผ่นไปตามปกติ แต่จริงๆแล้ว ในความเห็นของผม ผมเห็นว่า ไม่จำเป็นครับ เช็ดแห้ง อย่างเดียวก็พอแล้วครับ อย่าไปเช็ดแบบเปียก ให้เปลืองค่าน้ำยาเลยครับ

เมื่อเราเช็ดแผ่น ด้วยแปรง แบบขนแปรงสั้น เสร็จแล้ว หลายๆครั้ง ก็จะยังคงมี ฝุ่น คงเหลืออยู่บนผิวแผ่น เป็นกองเล็กๆ เหลืออยู่ ให้เราใช้ แปรงเช็ด แบบขนแปรงยาว ปัดฝุ่นที่เหลืออยู่ทิ้งไปอีกครั้ง โดยเป็นการปาดทิ้งออกไปที่ขอบแผ่น ด้านนอก

แปรงเช็ดแผ่นแบบแห้งนี้ จะมีลักษณะเป็นแปรงที่มีขนยาวๆ แปรงแบบนี้ เท่าที่ผมใช้มา ผมแนะนำของยี่ห้อ ACOUSTECH – Big Record Brush ราคาประมาณ $37 ครับ (ตามรูปข้างบน) อันนี้ จะทำงานได้ดีที่สุด สามารถปาดฝุ่นทิ้งออกไปได้จริง

ส่วนแปรงเช็ดแบบแห้ง ที่ผม ไม่ แนะนำ คือ แปรงตามรูปข้างล่างนี้ครับ

แปรงตามรูปข้างบน ทั้งสามอันนี้ ผมไม่แนะนำครับ ตลอดจนยี่ห้ออื่นๆ ด้วย ที่มีลักษณะเดียวกัน

แปรง Hunt EDA จะเป็นแปรงที่พยายามจะรวมการทำงานของการเช็ดทั้งแบบ ขนแปรงสั้น และ ขนแปรงยาว เอาไว้ในที่เช็ดเพียงอันเดียว มันดูเหมือนจะเป็นแนวคิดที่ดี แต่ใช้งานจริงนั้น ผลเป็นอย่างไร อย่าให้พูดเลย เอาเป็นว่า ผมไม่แนะนำแล้วกันครับ

ส่วนแปรงเช็ดแบบแห้ง ที่มีขนแปรงแบบนี้ ก็ไม่แนะนำครับ ไม่ว่า จะเป็นของมียี่ห้อ หรือไม่มีก็ตาม ไม่ว่าจะราคาสูง หรือ ราคาต่ำ ก็ตาม ไม่แนะนำทั้งสิ้นครับ อย่าซื้อมาให้เสียดายเงินครับ

ดังนั้น สำหรับแปรงเช็ดแผ่นเสียง คุณซื้อไว้ใช้เพียงสองแบบนี้ พอแล้วครับ ตามรูปข้างล่าง
1. แปรงเช็ดแผ่น แบบขนแปรงสั้น ยี่ห้อ DiscWasher หรือ ยี่ห้อ Mobile Fidelity หรือ ยี่ห้ออื่นๆ ที่มีลักษณะ และ หลักการ ในการทำงาน แบบเดียวกัน

2. แปรงเช็ดแผ่น แบบขนแปรงยาว ยี่ห้อ ACOUSTECH – Big Record Brush
ปุ่มที่ปลายดามแปรง จะเป็นจุดที่ใช้ต่อสาย ไปลง ground เพื่อกำจัดไฟฟ้าสถิตย์ออกจากผิวแผ่นได้อีกด้วย ในระหว่างที่เราเช็ดแผ่น

ในการเล่นแผ่นเสียงประจำวัน เมื่อรวมอุปกรณ์ที่ใช้ล้างไฟฟ้าสถิตย์เข้าไปด้วยแล้ว เราต้องการ อุปกรณ์ เพียง 3 อย่างนี้ ก็เพียงพอแล้วครับ ไม่จำเป็นต้องใช้อุปกรณ์อื่นใดอีกเลย

การล้างทำความสะอาดแผ่น นานๆครั้ง
ไม่ว่า เราจะพยายาม เช็ดทำความสะอาดแผ่นเสียงทุกๆครั้ง ทุกๆวัน อย่างไรก็ตาม ในที่สุด ก็จะยังคงมีฝุ่นจำนวนหนึ่ง หลงเหลือ ค้างอยู่ในร่องแผ่นเสียงได้อยู่ดี เมื่อถึงเวลานั้น เราก็จำเป็นครับ ที่จะต้อง ล้างทำความสะอาดแผ่นเสียง ด้วยเครื่องล้างแผ่นเสียงครับ

ซึ่งตามประสบการณ์ของผม ผมคิดว่า หากไม่ติดขัดเรื่องงบประมาณ เราควรมีเครื่องล้างแผ่น สองชนิดไว้ใช้งานพร้อมๆกัน ครับ คือ

1. เครื่องล้างแผ่นเสียงแบบ Ultra Sonic

เครื่องล้างแผ่นเสียง แบบ Ultra Sonic เราจะใช้ล้างแผ่น ที่มีฝุ่น และ ความสกปรก ฝังอยู่ในร่องเสียง โดยที่ การใช้แปรงธรรมดา ไม่สามารถเช็ดเอาฝุ่นพวกนี้ ออกไปได้อีกต่อไป เครื่องล้างแผ่น แบบ Ultra Sonic จะเป็นเครื่องล้างแผ่นเสียง ที่มีประสิทธิภาพ ประสิทธผล ดีที่สุด เท่าที่ผมเคยลองมาครับ เมื่อ คุณพบว่า แผ่นเสียงเร่ิมมีเสียงรบกวน และ เช็ดเท่าไร ก็ยังมีเสียงรบกวนอยู่เหมือนเดิม ก็ให้เอาแผ่นนั้นๆ มาทำความสะอาดด้วยเครื่องนี้ครับ

สำหรับเครื่องล้างแผ่นเสียงแบบ Ultra Sonic นั้น จะซื้อสำเร็จรูปก็ได้ แต่ราคาจะค่อนข้างสูง อย่างต่ำๆ ก็เกินห้าหมื่นบาทขึ้นไป จนถึงหลักหลายแสนบาท

แต่หากว่า ต้องการประหยัดงบ ก็ DIY ขึ้นมาใช้เองเลยครับ ผมเคยเขียนบทความแนะนำเอาไว้แล้ว ตาม link นี้ครับ http://avbestbuy.com/cms/sample-page-2/av-system/accessories/analogue/เครื่องล้างแผ่นเสียง-ultrasonic-cleaner/

2. เครื่องล้างแผ่นเสียงแบบใช้แปรง และ มีเครื่องดูดน้ำยาทิ้งในตัว

เครื่องล้างแผ่นเสียงแบบนี้ ผมจะมีไว้ใช้ ประกอบกับ เครื่องล้างแผ่นเสียง Ultra Sonic โดยที่เมื่อล้างแผ่น ด้วยเครื่อง Ultra Sonic แล้ว ผมจะเอาแผ่นมาวางในเครื่องนี้ โดยหยดน้ำบริสุทธิ์ลงไป แล้วใช้แปรง แปรงไปบนผิวแผ่น สักพัก เพื่อให้น้ำบริสุทธิ์ ล้างน้ำยาล้างแผ่นที่ยังตกค้างบนผิวแผ่นออก หลังจากนั้น ผมก็จะใช้ ฟังก์ชันปั้มน้ำ ในเครื่องนี้ สูบน้ำยาบนผิวแผ่น ทิ้งไปเสีย จนผิวแผ่นแห้ง ทำให้ ผมเก็บแผ่นเสียงเข้าซองโดยทันที โดยไม่ต้องตากแผ่นเอาไว้ รอให้แห้งไปเอง ซึ่งเสียเวลา และ อาจเปิดปัญหาฝุ่นใหม่มาติด หรือ เกิดคราบน้ำบนผิวแผ่นได้ครับ

อีกอย่างหนึ่ง ที่ผมจะใช้เครื่องนี้ ก็คือ ใช้ล่างแผ่นใหม่ๆ ที่เพิ่งซื้อมาครับ โดยแผ่นพวกนี้ จะเป็นแผ่นผลิตมาใหม่ๆ แต่ก็อาจจะมีเศษวัสดูติดอยู่บนผิวแผ่น หรือ ฝุ่นผง วัสดุแปลกปลอม ติดอยู่ แต่ก็ไม่ได้ติดแน่น จนเป็นปัญหา จึงใช้เครื่องล้างแบบใช้แปรง ในการล้าง ก็เป็นการเพียงพอครับ

เครื่องล้างแผ่นเสียงแบบนี้ มีหลากหลายยี่ห้อครับ ก็เลือกซื้อกันได้ตามอัธยาศัย สำหรับของผมเองนั้น ผมใช้ของ Vpi อยู่ ซึ่งเครื่องก็ทำงานได้ดี เป็นที่น่าพอใจครับ ผมจึงแนะนำยี่ห้อนี้ ส่วนยี่ห้อ อื่นๆนั้น ผมไม่เคยใช้งาน จึงไม่มีความเห็น

สำหรับในกรณีที่ท่าน ไม่ต้องการจะซื้อเครื่องล้างแผ่นมาใช้งาน พร้อมกันทั้งสองเครื่องนี้ ถ้าเช่นนั้น ให้เลือกใช้ เครื่องล้างแผ่น แบบ Ultra Sonic เป็นเครื่องแรกก่อนครับ ส่วนการล้างนำ้ยาที่ตกค้างที่ผิวแผ่น และ การทำให้แผ่นแห้ง หลังการล้างแผ่นนั้น ค่อยปรับหา วิธีอื่นๆมาใช้ทดแทนครับ ซึ่งมีอยู่หลายวิธีครับ เช่นใช้ พัดลม เป่าไล่น้ำ ก็ทำได้เช่นกันครับ

อุปกรณ์ทั้งหมดขั้นต้น คือ อุปกรณ์ในการทำความสะอาดแผ่นเสียง ที่ผมเห็นว่า นักเล่นแผ่นเสียงทุกๆท่าน ควรมีไว้ เพื่อใช้งานครับ เพราะแผ่นเสียงที่สะอาด ปราศจากเสียงรบกวนนั้น มีความสำคัญอย่างยิ่ง ที่จะทำให้ พวกเราทุกๆคน สามารถฟังเพลงจากแผ่นเสียงได้อย่างมีความสุขครับ

ปล. อุปกรณ์ที่แนะนำทั้งหมด ทาง AVBestBuy.com ไม่มีจำหน่ายนะครับ และ เครื่องล้างแผ่นเสียง Ultra Sonic นั้น ผมแนะนำให้ทำขึ้นมาใช้เองครับ ไม่ต้องซื้อ