เครื่องขยายเสียง – PreAmp (2)

แล้วจะซื้อ PreAmp แบบไหนดี ?

เอาละครับ เมื่อเรา รู้จัก PreAmp ประเภทต่างๆ ที่มีให้เราเลือกแล้ว ทีนี้ก็มาถึงปัจจัยที่จะใช้ในการเลือกซื้อ PreAmp ที่ถูกต้องเหมาะสม สำหรับตัวคุณครับ ซึ่งจะต้องพิจารณาถึง พฤติกรรมและความชอบของตัวคุณ Source ที่คุณเลือกใช้ และ Power Amp ที่คุณจะใช้กับ PreAmp ของคุณด้วย

มีความจริงอยู่ว่า ในการออกแบบนั้น ย่อมขึ้นกับองค์ประกอบหลายสิ่งที่จะทำให้มีคุณภาพเสียงที่ดี อย่างไรก็ตาม มีแนวโน้มว่า การออกแบบวงจรที่เรียบง่ายกว่า มีวงจรอยู่ในทางเดินสัญญานที่น้อยกว่า มีโอกาสที่จะให้เสียงที่ดีกว่า และ PreAmp ที่มีฟังก์ชันการใช้งานน้อยกว่า มีโอกาสที่จะให้เสียงที่ดีกว่า PreAmp ที่มีฟังก์ชันมากๆ ตัวอย่าง ที่เชัดเจนนี้ ดูตัวอย่างได้จาก PreAmp สำหรับตลาด Mass หรือ MidFi ที่มาจากญี่ปุ่น เปรียบเทียบกับ Pre Hi-end ที่ผลิตจากอเมริกา จะเห็นได้ชัดเจน ถึงความแตกต่างในแนวคิดของการออกแบบ




อย่างไรก็ตาม ในการใช้งานจริง ย่อมเป็นการประนีประนอม ระหว่างคุณภาพเสียง กับ ความต้องการในการใช้งาน ดังนั้น หากคุณพบว่า คุณขาดฟังก์ชันอะไรบางอย่างไม่ได้ ก็จงเลือกซื้อ PreAmp ที่ตรงกับความต้องการของคุณเป็นสำคัญ เช่น หากคุณจำเป็นต้องใช้ Balance control หรือ Tone control ก็จงเลือก PreAmp ที่ยอมให้คุณปรับแต่งได้ในส่ิงที่คุณต้องการ อย่าลืมว่า คุณซื้อเครื่องเสียง เพื่อตอบสนองความพอใจในการใช้งานของตัวคุณเป็นหลัก ไม่ใช่ปล่อยให้คนอื่นมากำหนดว่า คุณต้องซื้ออะไร ? อย่างไร ?

การที่จะเลือกใช้ปรีแอมป์แบบใดดี อันนี้ขึ้นอยู่กับ

1. คุณต้องการ input จำนวนเท่าใด
คือคุณมีแหล่งโปรแกรมอยู่กี่อย่างนั่นเอง บางคนอาจจะมีแค่ซีดีกับเทป ในขณะที่อีกคนอาจจะพ่วงโฮมเธียเตอร์เข้าไปด้วย อาจจะต้องการ ถึง 5-6 input และถ้าคุณมีเครื่องเล่นแผ่นเสียงต้องเผื่ออีกหนึ่ง input เอาไว้ด้วย และ ต้องพิจารณา Phono Preamp ด้วย แต่บางท่าน อาจจะฟังแต่ File เพลง หรือ Streming อย่างเดียว ถ้าเช่นนั้น ก็อาจจะมีแค่ 1-2 input ก็เพียงพอแล้ว ในขณะที่บางท่านที่มี Source หลากหลายประเภท อาจจะต้องการถึง 6-7 input เป็นต้น

ท่านมีเครื่องเล่นเทป อยู่หรือไม่ และ ต้องการ บันทึกเสียงจากสื่ออื่นๆ ลงเทป ด้วยหรือไม่ หากว่าต้องการ ก็ต้องมองหา PreAmp ที่มีฟังก์ชันที่ช่วยในการบันทึกเทปด้วย

2. คุณต้องการ Input แบบ Balance หรือไม่
ในกรณีที่แหล่งสัญญานของคุณมี ouput แบบ Balance มาให้ ปรีแอมป์ของคุณก็ควรจะมี Input แบบ Balance ด้วย เพื่อที่คุณจะสามารถฟังเปรียบเทียบว่า ระหว่าง input แบบ Balance กับ Unbalance (Single-ended) ว่าแบบใดให้เสียงได้ดีกว่ากัน ผู้ออกแบบ ออกแบบให้การต่อแบบใด ให้คุณภาพเสียงที่ดีกว่ากัน ดังนั้น คุณจึงควรมีเผื่อไว้สำหรับเป็นทางเลือกครับ ตามแต่ Source ของคุณกำหนดมา

แต่หากว่า Source ของคุณ ไม่ได้กำหนดว่า ต้องการ Balance interface … ในโลกของเครื่องเสียงนั้น มีความเห็นแตกต่างกันเป็นปกติ ทั้งในส่วนของ คนซื้อ ร้านค้า และ แม้กระทั่ง ผู้ออกแบบ… ดังนั้น เราอาจจะเห็นผู้ผลิตบางรายเช่น Balance Audio Technology ที่เชื่อในการออกแบบให้วงจรทำงานแบบ Balance ก็จะมีมาให้เฉพาะ Balance Input แต่ในขณะเดียวกัน Conrad Johnson ก็ทำแต่แอมป์ที่มีแต่ Single-ended input มาให้อย่างเดียว…

ใครผิด ใครถูก ? บางครั้ง.. ไม่มีคำตอบที่ชัดเจน ผมจึงเน้นย้ำเสมอว่า การเล่นเครื่องเสียงนั้น จะต้อง ฟังเองเป็น เลือกเองได้…. ให้ทดลองฟัง แล้ว ตัดสินใจให้ได้ด้วยตัวเองว่า อะไรคือทางเลือกที่ให้เสียงดีกว่า และ อะไรคือทางเลือกที่เหมาะกับตัวคุณ อย่าให้เซียนหน้าไหน มาฟันธงแทนตัวคุณ


3.คุณต้องการ ฟังก์ชันมากๆหรือไม่
ได้อย่าง… ก็ต้องเสียอย่าง…… การออกแบบวงจรที่มีวงจรน้อยกว่า เสียงจะดีกว่า และ คุณจะต้องเลือกระหว่างปรีแอมป์ที่มีฟังก์ชันมาก หรือ คุณภาพเสียงดี แต่ไม่มีทางที่คุณจะได้ทั้งสองอย่าง การปรับโทนเสียงด้วย ปุ่มปรับเสียงทุ้ม ปุ่มปรับเสียงแหลม หรือ ปุ่มปรับบาลานซ์ของเสียง ล้วนแต่ทำให้คุณภาพเสียงลดลงทั้งสิ้น สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่ไม่จำเป็นในชุดเครื่องเสียงที่มีคุณภาพดีพอ มีห้องฟังที่ดีพอ เพราะวงจรยิ่งมากเท่าไรก็ยิ่งมีการผิดเพี้ยนของสัญญานไปมากเท่านั้น

ในขณะเดียวกัน… บางครั้ง คุณก็อาจจำเป็นที่จะต้องใช้ PreAmp ที่มีฟังก์ชันในการปรับเสียงไปถึงขนาดอย่าง DSP ก็ได้ หากว่า ห้องฟังของคุณ มีปัญหามากๆ จนอาศัยการ setup เข้ามาแก้ไข ชดเชย ไม่ได้ ดังนั้น การเลือกซื้อเครื่องเสียง จึงเป็นเรื่องที่ทุกๆคน จะตัดสินใจต่างกัน ตามแต่รสนิยม และ ข้อจำกัดต่างๆที่ แต่ละคนมีไม่เหมือนกัน ผมจึงย้ำหนักย้ำหนาว่า ให้เลือกซื้อเครื่องเสียงด้วยตัวเอง ด้วยความเข้าใจ และ เข้าถึง เครื่องเสียงชิ้นนั้นๆ อย่าไปให้ “เซียนฟันธง” หรือ “เซียนกำมะลอ” คนไหน ตัดสินใจให้คุณครับ

หรืออย่างเช่น คุณต้องการให้ Pre Amp สามารถใช้บริการ Streaming ได้หรือเปล่า ? ต่อ Internet Radio ได้หรือเปล่า ? ต้องมี ภาค DAC อยู่ในตัวหรือเปล่า ? ต้องมี USB input ไหม ? สิ่งเหล่านี้ เป็นสิ่งที่ต้องคิด และ วางแผนไว้ล่วงหน้า ก่อนที่จะตัดสินใจเลือกซื้อ Pre amp ครับ

คุณต้องการ Tone Control ไหม ? คุณต้องการ Balance Control ไหม ?
แน่นอนว่า การเพิ่มฟังก์ชันเหล่านี้ อาจหมายถึง คุณภาพเสียงที่ด้อยลงไป แต่ในหลายๆกรณีเช่น คุณมีห้องที่ไม่สมดุล ก็อาจทำให้ Balance Control ก็อาจเป็นสิ่งจำเป็นที่ขาดไม่ได้เช่นกัน

คุณต้องการ Headphone Amp ให้มีอยู่ใน Pre Amp ของคุณหรือไม่ ? เช่นเดียวกัน หากคุณซีเรียสต่อการฟังเพลงมากๆ การแยก Headphone Amp ออกจาก Pre amp ไปเป็นเครื่องต่างหากไปเลย มีโอกาสที่จะให้คุณภาพเสียงที่ดีกว่า แต่หากคุณมีข้อจำกัดทางด้านงบประมาณ และ ต้องการฟังก์ชันพวกนี้ คุณก็จะต้องยอมประนีประนอมให้มากขึ้น

4. Power Amp ของคุณต้องการอะไรจาก PreAmp ของคุณ
หากคุณซื้อ Pre และ Power มาจากผุ้ผลิตรายเดียวกัน ซึ่งมักจะออกแบบมาให้ทำงานได้อย่างสอดคล้องกันอยู่แล้ว ประเด็นนี้ ก็อาจมีความสำคัญน้อยลง แต่…. บางครั้ง…. ผู้ผลิตบางราย ผลิตแต่ PreAmp อย่างเดียว หรือ โด่งดังมากเฉพาะ PreAmp ส่วน Power Amp คุณกลับไปชอบอีกยี่ห้อหนึ่ง หรือคุณอาจจะชอบ PreAmp หลอด แต่อยากจะใช้มันกับ Solid State Power Amp นั่นก็มีโอกาสสูง ที่คุณจะต้องจับคู่กัน ข้ามยี่ห้อ

ในกรณีนี้ คุณจำเป็นที่จะต้องไปเลือกซื้อ Power Amp จากผู้ผลิตรายอื่น ซึ่งจะทำให้ การเลือก Power Amp ทีทำงานเข้ากันได้ และ มีความเหมาะสมกับ PreAmp ที่เลือกไว้แล้ว เป็นประเด็นที่สำคัญในทันทีครับ

สิ่งแรกที่ต้องพิจารณาคือ impedance
ผมจะยกตัวอย่างของการใช้ Passive PreAmp นะครับ ในการกำหนดความเหมาะสม คุณจะต้องดู Impedance ของ source , PreAmp และ Power amp ของคุณ และต้องพิจารณา ควบคู่ไปพร้อมๆกัน หลักการคร่าวๆคือ ในทุกๆเครื่องถัดไปนั้น จะต้องมี Impedance สูงกว่าเครื่องก่อนหน้า อย่างน้อย 10 เท่า (สูงกว่า 10 ไม่เป็นไร แต่ห้ามน้อยกว่า)
ยกตัวอย่างเช่น…
หาก DAC ของคุณ มี impedance output ที่ 100 Ohm
Passive PreAmp ของคุณ จะต้องมี Impedance input = 100×10 = 1,000 = 1k Ohm
Power Amp ของคุณ จะต้องมี Impedance input ที่ = 1,000×10 = 10,000 = 10k Ohm เป็นต้น

ในบางกรณี มีคนยึดหลักที่ว่า อัตราส่วนระหว่าง Source output impedance กับ Power amp input impedance นั้น ให้อยู่ที่ประมาณ 1:100 (+/- ได้ ไม่จำเป็นต้องเป๊ะ) นั่นหมายถึง…
หาก DAC ของคุณ มี impedance output ที่ 100 Ohm
Power Amp ของคุณ จะต้องมี Impedance input ที่ = 100×100 = 10,000 = 10k Ohm
แล้วเขาจึงจะไปกำหนดให้ Passive PreAmp มีค่า impedance ที่ประมาณ 1k ถึง 2k Ohm เป็นต้น
สูตรนี้ อาจจะนำมาใช้ในกรณีที่เราหาค่า impedance ของ PreAmp ไม่เจอ ไม่ว่า จะด้วยสาเหตุใดๆก็ตาม ก็อาจใช้สูตรนี้ มาเพื่อใช้ในการเลือกซื้อ Power Amp ให้เหมาะสมได้เช่นกัน

หลักการเหล่านี้ ใช้ได้สำหรับการ Matching impedance ของ PreAmp ได้ทุกประเภทครับ แต่ที่ยกตัวอย่างเป็น Passive PreAmp ก็เนื่องจาก Passive PreAmp จะอ่อนไหวต่อกรณี Impedane นี้มากที่สุดครับ

ประเด็นถัดไป เห็นจะเป็นเรื่องของ Single-Ended กับ Balance อีกครั้ง
ถ้าหาก Power Amp ของคุณ มีแต่ Balance Input หรือ ผู้ผลิตแนะนำว่า ต่อช่อง Balance ให้คุณภาพเสียงที่ดีกว่า ในกรณีนี้ PreAmp ของคุณ ควรจะต้องมี Balance Output ครับ ถึงแม้เราจะสามารถต่อ PreAmp single-ended output มายัง Balance input ของ power amp ได้ก็ตาม แต่ผมไม่แนะนำให้ทำเช่นนั้นครับ เพราะ มีโอกาสสูงกว่า ที่เราจะได้คุณภาพเสียงที่ดีกว่า ด้วยการต่อผ่าน Balance output มาจาก PreAmp ครับ

สุดท้ายคือ การเข้ากันได้ทางบุคลิกเสียง และให้ผลสุดท้ายที่ดี ตรงตามความต้องการของคุณ

5. แล้วที่ลำโพงล่ะ…
ลำโพงเกี่ยวอะไรด้วย ? คุณคง งง !
ลำโพงเกี่ยวอะไรกับ PreAmp ?
มันมีในบางกรณีครับ ที่ PreAmp ออกแบบมาเป็น absolute-phase-inverted อย่างเช่น PreAmp Audible illusion เป็นต้น

ในกรณีที่คุณเลือกใช้ PreAmp ที่ออกแบบมาเป็น absolute-phase-inverted แบบนี้ เมื่อต่อใช้งาน คุณจะต้องไปกลับ phase ที่ขั้วลำโพงของคุณ โดยสลับขั้ว + ไป – และ จาก – ไป + การต่อใช้งานโดยไม่สลับ phase กลับไปให้ถูกต้อง จะส่งผลให้เสียงที่ได้ มีคุณภาพด้อยลงอย่างชัดเจนครับ

6. รูปร่าง หน้าตา การจัดวางปุ่มต่างๆ และ ความรู้สึกในการใช้งาน
Pre Amp ตัวนั้น สวยถูกใจคุณไหม ?
ปุ่มต่างๆ จัดวางให้เข้าใจง่าย และ ง่ายต่อการเอื้อมถึง ใช้งาน และ ปรับแต่ง หรือไม่ ?
มีปุ่ม Mute ให้ไหม ? คุณใช้มันแล้ว คุณรู้สึกเช่นไร มีความสุขที่จะได้เห็น และ ได้จับ ได้ใช้งาน Pre amp เครื่องนั้นๆหรือไม่



หลอดหรือทรานซิสเตอร์

สำหรับนักเล่นที่ชื่นชมในเสียงของหลอดนั้น ปรีแอมป์หลอดจะมีราคาที่พอรับได้มากกว่า เพาเวอร์แอมป์หลอด ซึ่ง Tube Power Amp ราคามักจะแพงมากกว่า Pre-Amp และต้องการการดูแลรักษามากกว่า Pre Amp มีขนาดใหญ่กว่า ร้อนกว่า ต้องเปลี่ยนหลอดบ่อยกว่า หากว่า คุณเป็นคนที่ชื่นชมเสียงในแบบของ หลอด.. Pre Amp หลอดก็เป็นสิ่งที่คุณควรพิจารณาใช้เป็นอย่างยิ่ง

Amp หลอดนั้นมักจะกล่าวอ้างว่า เสียหวานกว่า อุ่นกว่า และมีเสียงแหลมที่เป็นธรรมชาติมากกว่า ให้ soundstage , image ได้ดีกว่า โซลิดสเตทปรีแอมป์คุณภาพต่ำหลายเครื่องจะให้เสียงที่ แห้ง คมแข็ง ขึ้นขอบ กร้าว.. ไม่นุ่มนวล เท่ากับหลอด

อย่างไรก็ตาม เครื่องหลอดคุณภาพต่ำ หรือออกแบบมาไม่ดี ก็จะให้เสียงที่มีสีสันมากจนผิดธรรมชาติ เสียงแหลมที่นุ่มเกินธรรมชาติ บวม เบลอร์ ไม่มีรายละเอียดของเสียง ขาดโฟกัส และการทำให้เสียงที่ได้ยิน ผิดเพี้ยนไปจากสัญญานต้นฉบับมากเกินไป

และ… อย่ามีอคติต่อ Solid State Pre Amp เพราะ Pre-Amp Solid State ที่ออกแบบมาดีๆ คุณภาพสูงๆ ก็สามารถให้เสียงที่ดีมากได้เช่นกัน

Pre Amp ที่ออกแบบมาดีๆ คุณภาพสูงๆ มีโอกาสที่จะให้เสียงออกมาใกล้เคียงกัน เพราะเนื่องจาก การออกแบบ Pre Amp ที่ดีนั้น จุดประสงค์คือ “การปราศจากตัวตนของ Pre Amp” ถึงแม้จะมี Pre Amp อยู่ตรงนั้น แต่มันเสมือนว่า ไม่ได้มี Pre Amp อยู่ใน system ของคุณเลย นั่นคือ จุดประสงค์สูงสุด ในการออกแบบ Pre Amp หนึ่งเครื่องครับ



ดังนั้น… อย่าตั้งมั่นในการเลือกเครื่องประเภทใด ประเภทหนึ่ง อย่ามีอคติในการเลือกเครื่อง อย่าคิดว่า หลอดเสียงหวานกว่า หรือ โซลิดสเตทให้รายละเอียดดีกว่า จุดสำคัญที่สุดก็คือ ตัวคุณเอง และ ดนตรีที่คุณฟัง ปรีที่คุณจะเลือกคือเครื่องที่ให้เสียงดนตรีเป็นธรรมชาติมากที่สุดเท่าที่จะเป็นได้ ให้เสียงในแบบที่คุณชอบที่สุด ฟังแล้วมีความสุขที่สุด ฟังได้อย่างรื่นรมย์ และ ยาวนานที่สุด อย่าให้ ใครมากำหนด มาเลือก เครื่องเสียงแทนตัวคุณ เพราะคุณเป็นคนที่จะอยู่กับเครื่องเสียงชิ้นนั้นๆ ไม่ใช่ “เซียน” หรือ “กูรู” รายใดทั้งสิ้น

เมื่อคุณเลือก Pre amp จงให้ เสียงดนตรี และ ความรู้สึก ของคุณ เป็นสิ่งที่บอกคุณว่า Pre Amp เครื่องนั้นๆ มีคุณภาพดีเพียงพอ และ ตรงต่อความต้องการใช้งานของคุณหรือไม่ ? มันตอบสนองการฟังเพลงในแบบของคุณได้ดีหรือไม่ ? และคุณ จะใช้ชีวิต ร่วมกับ Pre Amp เครื่องนั้นๆ ได้อย่างเป็นสุข อย่างยาวนาน หรือไม่ ?

จงฟังเสียงของหัวใจตัวเอง และ เลือกเครื่องที่ตรงกับ “ใจ” ของคุณครับ