เครื่องขยายเสียง – Pre Amp (1)

เครื่องขยายเสียงนั้น  นับเป็น องค์ประกอบที่สำคัญมากในชุดเครื่องเสียง  ภาคขยายเสียงนั้น ทำหน้าที่ในการรับสัญญานในระดับ Line Level หรือ ต่ำกว่า มาทำการ จัดการ ขยายสัญญานนั้นๆ ให้สามารถส่งไปขับลำโพง ให้ส่งเสียงดนตรีมาให้เราได้ยิน

การเลือกเครื่องขยายเสียงได้อย่างถูกต้อง และ สามารถทำงานได้ดี จะต้องดูทั้งค่าทางสเปค และ บุคลิกเสียงของ เครื่องขยายเสียงนั้นๆว่า ไปกันได้ดีกับ  source และ ลำโพง หรือไม่ ?  และ เข้ากันได้กับรสนิยมของเจ้าของ System หรือไม่

การเลือกเครื่องขยายเสียงที่ผิดพลาดไปในด้านใด ด้านหนึ่ง จะส่งผลให้คุณภาพเสียงด้อยลงอย่างชัดเจน และ ในบางกรณี อาจถึงกับทำให้ ไม่สามารถฟังดนตรีจากชุดเครื่องเสียงนั้นๆได้เลย  ดังนั้น คุณจึงควรใส่ใจ ในการเลือกเครื่องขยายเสียง อย่างพิถีพิถัน ครับ

เครื่องขยายเสียงในท้องตลาดปัจจุบัน มีหลากหลายประเภท หลากหลายฟังก์ชัน ให้เลือกซื้อ จนดูน่าสับสน เช่น PreAmp, Power Amp, Integrate Amp, AV reciever, Pre/Dac  ฯลฯ  เราจึงควรมาทำความเข้าใจ ถึงทางเลือกต่างๆ  เพื่อที่จะเลือกใช้ ภาคขยายเสียง  ให้ได้ตรงตามความต้องการของท่านครับ

เรา มาเริ่มกันที่ PreAmp ก่อนครับ


1. Preamplifiers
preamplifiers เป็นศูนย์กลางของสัญญานในชุดเครื่องเสียงของคุณ  ไม่ว่าคุณจะฟังอะไร CD, LP, Hires File หรือ Streaming ฯลฯ.  สัญญานเหล่านั้น จะต้องผ่านการทำงานของ PreAmp ก่อนเสมอ  มันรับสัญญานได้จากหลายๆแหล่ง และให้คุณเลือกได้ว่าจะส่งสัญญานอะไรไปให้ Power amplifier ขับลำโพง  อีกทั้งยังทำหน้าที่ขยายสัญญานหัวเข็ม , ปรับบาลานซ์ของสัญญานซ้ายขวา , ปรับระดับความดังของเสียง, ปรับความถี่ของเสียง ฯลฯ.

นอกจากนี้ เนื่องจาก การเปลี่ยนแปลงที่ไม่หยุดนิ่งในเทคโนโลยี่  จึงทำให้ มีการใส่ภาคการทำงานอื่นๆ  เสริมเข้าไปใน PreAmp ด้วย เช่น ภาค DAC, Streaming service, Internet Radio , Network connectivity, Wireless connectivity เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม..  PreAmp ที่มีคุณภาพดีจริงๆ  มักจะไม่ได้ใส่ฟังก์ชันเสริมเข้าไป แต่จะมุ่งทำงานในฐานะของ PreAmp ให้ดีที่สุด และ ตัดสัญญานรบกวนต่างๆที่อาจเกิดขึ้นจากภาคต่างๆ ออกไปให้หมด

และ เนื่องด้วยทุกสัญญาน ทุกๆ source จะต้องผ่าน การทำงานของ PreAmp ดังนั้น คุณภาพเสียงของ PreAmp จึงจะส่งผลต่อคุณภาพเสียงของ system ของคุณโดยรวม อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

PreAmp แบบใด จะเหมาะกับท่าน  ก็ต้องพิจารณา จากหลายๆองค์ประกอบ ทั้งลักษณะการใช้งาน ลักษณะความต้องการ  งบประมาณที่มี  และ เครื่องอื่นๆใน system ประกอบกันครับ  ท่านอาจจะเหมาะกับ PreAmp แบบหนึ่ง แต่ไม่เหมาะกับ PreAmp อีกแบบ หรือ..  แม้กระทั่งว่า ท่านไม่จำเป็นต้องใช้ PreAmp ใดๆเลยก็ได้

preamplifer มีอยู่หลายประเภทดังนี้

Line-Stage preamplifier
รับสัญญานเฉพาะ Line level เท่านั้นซึ่งหมายถึงทุกแหล่งสัญญานยกเว้นเครื่องเล่นแผ่นเสียงเพียงอย่างเดียว  จึงเหมาะกับท่านที่ ไม่ได้เล่นแผ่นเสียง และ ไม่คิดจะเล่นแผ่นเสียงครับ (แต่สามารถหา Phono PreAmp มาใช้ประกอบกับ Line-Stage Pre ในภายหลังได้ครับ หากเกิดเปลี่ยนใจจะเล่นแผ่นเสียงขึ้นมา)



Phono Preamplifier
รับสัญญานระดับต่ำจากหัวเข็มเล่นแผ่นเสียงและขยายให้ได้ระดับเดียวกับสัญญาน line level  ทำหน้าที่ในภาค RIAA equalization  หากคุณเล่นแผ่นเสียง Phono PreAmp เป็นสิ่งจำเป็นสำหรับคุณ  Phono Preamp อาจจะเป็นเครื่องแยกอิสระ หรือรวมอยู่ใน Preamplifiers บางเครื่องก็ได้   แต่ Phono Preamp ที่มีคุณภาพสูงจริงๆ มักจะเป็นเครื่องที่ทำแยกออกมาต่างหาก มากกว่าครับ



Full-Function Preamplifier
คือ Line-Stage PreAmp ที่รวม Phono Preamp เข้าไว้ด้วยกันในตัวถังเดียวกัน เหมาะกับท่านที่เล่นทั้ง แผ่นเสียง ทั้ง CD และ Source หลากหลายประเภทไปพร้อมๆกัน และ ราคาโดยรวม จะประหยัดกว่า การแยกซื้อ Phono PreAmp กับ Line-Stage PreAmp มาใช้งาน



Passive level control (Passive Preamp)
สำหรับท่านที่ต้องการความบริสุทธิ์ของสัญญาน  ไม่ต้องการให้ PreAmp ที่มีภาค active ใดๆในเครื่อง จะไม่มีการขยายสัญญานใดๆ  หากแต่จะใช้ Passive Level Control ทำการลดขนาดของสัญญานลง ให้เหมาะสม แล้วส่งต่อไปยัง Power Amp  การเลือกใช้ Passive Preamp นั้น จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องตรวจสอบความเหมาะสมทางสเปค เพื่อให้แน่ใจว่า จะไม่เกิด Impedance mismatch ขึ้น  และ ให้เลือกใช้สายสัญญานที่มีค่า Capacitance ต่ำๆกับ Passive Preamp ครับ



Pre-Preamplifier (HeadAmp)
หากคุณเปลี่ยนไปเล่น หัวเข็ม Moving Coil ประเภท Low Output ที่มี output ต่ำมาก แต่ภาค Phono Preamp เดิมที่คุณมีอยู่ รับได้แต่สัญญานระดับสูงในระดับของหัวเข็ม Moving Magnet เท่านั้น

ในกรณีนี้ คุณจำเป็นต้องใช้ Pre-Preamplifier มาเสริม ซึ่งจะรับสัญญานระดับต่ำมากๆจากหัวเข็ม Moving Coil ประเภท  Low output  มาขยายสัญญานด้วย Transistor หรือ Op-amps ให้ได้ระดับที่สูงขึ้นจนเพียงพอ  แล้วส่งต่อให้ภาค Phono Preamp รับไปทำงานต่อไป



Step-Up Transformer
ทำหน้าที่เหมือน Pre-Preamp  แต่แทนที่จะใช้ Transistor หรือ Op-amps ,   Step-up Transformer จะใช้ Transformer แทน โดยมีการอ้างว่า ระดับการ Distort ของสัญญานนั้น ต่ำกว่าการใช้ Transistor รวมถึงมี Noise ต่ำกว่าด้วย  ซึ่งทำให้ Step-up Transformer ให้คุณภาพเสียงที่ดีกว่าการใช้ Pre-Preamp 



PreAmp / DAC 
คือ Line-Stage PreAmp หรือ Full function PreAmp ที่รวมภาค DAC เข้าไว้ในตัวถังเดียวกัน



Tubed Preamplifier
ปรีแอมป์ที่ใช้หลอดสูญญากาศในการขยายสัญญาน



Solid-state Preamplifier
ปรีแอมป์ที่ใช้ทรานซิสเตอรืในการขยายสัญญาน



Hybrid Preamplifier
เป็นการใช้ทั้งหลอดสูญญากาศและทรานซิสเตอร์ ขยายสัญญาน



Aduio/Video preamplifier
ปรีแอมป์ที่มี ภาคถอดรหัส dolby surround และฟังก์ชันทางวีดีโอ



Multi-Channel Preamplifier
คือ PreAmp ที่สามารถรองรับ Multi Channel Music ได้โดยเฉพาะ  มักจะมีจำนวน 6 ช่องเสียง (หรือแล้วแต่การออกแบบ)  สิ่งที่ต่างไปจาก Pre/Pro หรือ AVR คือ  จะไม่มีภาคการถอดสัญญาน Surround หรือ ฟังก์ชันเกี่ยวกับ Video ใน Multi-Channel PreAmp



Digital Preamplifier
คือ Preamp ที่รับสัญญาน Digital โดยตรง และ จัดการในรูปแบบของ Digital Domain โดยตลอดทาง   ซึ่ง Digital PreAmp นั้น มักจะมี ภาค DAC อยู่ในตัวทั้งนี้เพื่อให้สามารถส่งสัญญาน ต่อไปให้ Power Amp ทำงานต่อได้ทันที



NO Preamplifier
 
ทุกวันนี้ DAC หลายๆตัว สามารถขับ Power Amp ของคุณได้โดยตรง โดยสามารถปรับเพิ่มลดระดับของ Output ได้ด้วยตัวเอง และ DAC หลายตัว ก็ยังมี Digital Input มาให้หลายๆ input ให้เลือกใช้  ดังนั้น หาก Source ของคุณ มีแต่ Digital Source ไม่ว่าจะเป็น CD, Hi-Res File, Streaming ฯลฯ.  หรือ source ของคุณสามารถขับ Power Amp ได้โดยตรง    PreAmp ก็อาจจะไม่ใช่สิ่งจำเป็นสำหรับคุณอีกต่อไปครับ