ความเรียบง่าย… คือ ความสวยงาม



การเล่นเครื่องเสียงนั้น เป็นทางศาสตร์ และ ศิลป์ ในตัวมันเอง ต้องอาศัย ทั้งความรู้ และ ประสบการณ์​ ผสมผสานกัน เพื่อที่จะจัดชุดเครื่องเสียงที่ ให้คุณภาพเสียงได้ตรงตามที่เจ้าของชุดต้องการ

อย่างไรก็ตาม.. เพื่อที่จะเดินไปสู่จุดๆนั้น มีหลากหลาย แนวคิด และ หลากหลายแนวทาง ที่ นักเล่นมือใหม่ จะต้องคิด และ พิจารณา…

สิ่งหนึ่งที่ผมมักจะพบอยู่เสมอๆ สำหรับ นักเล่นมือใหม่ และ ในระดับเริ่มต้นคือ การยึดติดกับรูปแบบบางอย่าง โดยลืมที่จะคิดถึงผลสุดท้ายที่จะได้จากรูปแบบนั้นๆ รูปแบบที่ว่านั่นคือ การยึดรูปแบบ มาจาก นักเล่นรุ่นใหญ่ๆ หรือ นักวิจารณ์ หรือ ผู้เชี่ยวชาญ หรือ ใครก็ตาม ที่ เล่นชุดเครื่องเสียง ชุดใหญ่ๆ หรือ ซับซ้อนมากๆ system ที่เต็มไปด้วยเครื่องวางเรียงกันเต็มพรืดไปหมด ไม่รู้อะไรเป็นอะไร ช่างดูโปร อะไรเช่นนี้….

เราอาจจะได้เห็น ความยึดมั่น ถือมั่น ที่บอกว่า….
ต้องแยก Pre + Power ถึงจะเซียน
ต้องเล่น Bi-Amp, Tri-Amp ถึงจะเจ๋ง
ชิ้นเดียว ไม่ดี ต้องแยกเป็น สอง เป็นสาม เป็นสี่
ชุดต้องใหญ่ๆ เครื่องต้องเยอะๆ ถึงจะแจ๋ว…..

แต่.. ส่ิงที่คนส่วนใหญ่ ลืมคิดถึงไปคือ…
1. คุณมีงบประมาณมากเพียงพอ หรือไม่ ?
2. คุณมีความรู้ และ ประสบการณ์ เพียงพอ หรือไม่ ?

ในการจัดชุดใหญ่ ที่ซับซ้อนมากๆนั้น คุณจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีคุณสมบัติทั้งสองประการนี้ โดยครบถ้วน คุณจึงจะได้คุณภาพเสียงที่ดีอย่างที่ควรจะเป็น มิฉนั้น คุณจะเป็นเหยื่อที่ถูกหลอกเชือดได้โดยง่ายครับ

ดังนั้น สำหรับ มือใหม่ หรือ คนที่เล่นอยู่ในระดับเริ่มต้น ถึงกลางๆ…​ ผมอยากเสนอแนวทาง… “ความเรียบง่าย คือ ความสวยงาม” ให้พิจารณา

แนวทางนี้.. เราจะ…
1. จัดชุดให้เรียบง่ายที่สุด
2. จัดชุดให้มีเครื่องเสียง น้อยชิ้นที่สุดในระบบ
3. มีเฉพาะสิ่งที่จำเป็นจริงๆ ตัดสิ่งรกรุงรังออกไป ตัดของเล่นทิ้ง
4. เมื่อเลือกดีแล้ว ทุ่มงบลงไปให้ อย่างเต็มที่ เท่าที่งบประมาณจะมีให้
5. อะไรที่เราไม่แน่ใจว่า มันจะช่วย เสริมให้คุณภาพเสียงดีขึ้นได้จริง… อย่าเพิ่มเข้ามา !

ยกตัวอย่าง… integrated amp หรือ Pre amp + Power amp ?
เรามักจะเห็น ชุดเครื่องเสียงใหญ่ๆ แยก Pre + Power เสมอ แล้วเราก็ไปยึดมั่นว่า ต้อง Pre + Power เท่านั้น เสียงถึงจะดี….

แต่.. เราลืมไปว่า…. ในงบประมาณเท่าๆกันนั้น หากเราเลือกเล่น Pre + Power นั่นหมายถึงว่า เราจะต้องแบ่งงบประมาณให้กับเครื่องทั้งสองชิ้น การแบ่งบประมาณของคนซื้อ จะส่งผลไปถึง ผู้ผลิต ที่จะต้องประหยัดต้นทุนของแต่ละชิ้นลงไป เพื่อให้ขายได้ในราคาที่จำกัด (เพราะเรามีงบจำกัด) การประหยัดต้นทุน ย่อมหมายถึง การลดต้นทุนในทุกขั้นตอน ตั้งแต่การออกแบบ การเลือกใช้อะไหล่ การผลิต ส่วนประกอบทุกๆส่วน จะต้องถูกลดต้นทุนลง …. และ นั่นหมายถึง การลดคุณภาพเครื่อง คุณภาพเสียงลง ด้วยครับ

แต่.. ด้วยงบเท่ากัน.. เราหันไปเลือกเล่น Integrated Amp แทน ผู้ผลิต ไม่จำเป็นต้องเกลี่ยต้นทุน เขาสามารถที่จะทุ่มต้นทุนลงไปในชิ้นส่วน อะไหล่แต่ละชิ้นที่จะเลือกใช้ได้มากขึ้น ในการออกแบบ ก็ไม่ต้องคำนึงถึงการเฉลี่ยต้นทุน ไม่ต้องทำตัวถังแยกกัน ซึ่งก็ประหยัดต้นทุนตัวถังได้มากขึ้น แล้วเอาต้นทุนที่ประหยัดได้ ไปใส่ในอะไหล่ส่วนอื่นได้แทน ใช้หม้อแปลงตัวเดียว แทนที่จะต้องใช้แยกถึง สองตัว สามตัว สี่ตัว (เครื่อง Mono Block) สำหรับ เครื่องแต่ละเครื่อง…. และเรายังประหยัดงบ สายสัญญานระหว่าง Pre กับ Power ไปได้อีก 1 คู่ อีกด้วย

ไม่จำเป็นหรอกครับที่ Pre amp + Power amp จะต้องให้เสียงดีกว่า Integrated Amp เสมอไป เพราะในงบที่เท่าๆกัน Integrated Amp ที่ทุ่มทุนในการออกแบบ และ การเลือกใช้อะไหล่ ลงไปที่เครื่องเพียงเครื่องเดียว มีโอกาสสูงกว่ามาก ที่จะให้คุณภาพเสียงได้ดีกว่า Pre + Power ในระดับราคาเท่าๆกัน

(เราไม่รวม กรณีที่มีงบมากๆ หรือ ไม่จำกัด นะครับ นั่นเป็นอีกกรณีหนึ่ง ต่างหากออกไป ซึ่งผมจะเห็นด้วยว่า ให้เล่น Pre + Power )

หรือ การเล่น Bi-Amp หรือ Tri Amp ก็จะยิ่งเพิ่มความซับซ้อนให้ระบบมากขึ้น ตั้งแต่การต้องใช้ จำนวน Power Amp เพิ่มมากขึ้นจากปกติ การต้องเพิ่ม Crossover network ดีๆเข้ามา ตลอดจนสายสัญญานจำนวนมาก ที่ต้องใช้ในการเชื่อมต่อ ฯลฯ. ทั้งหมดนี้ ล้วนแล้วแต่ต้องใช้เงิน เครื่องที่คุณภาพดีๆ ล้วนแต่มีราคาค่อนข้างสูง

แต่… หากคุณมีงบจำกัด แล้วพยายามไปเกลี่ยงบ.. เลือก Power amp ที่ถูกลง Pre amp ที่ถูกลง ใช้ Crossover ที่ไม่ดี ใช้สายสัญญานที่ไม่ดี ลดงบลงไปในเครื่องทุกชิ้นในระบบ เพียงเพราะ อยากเล่น Bi-amp , Tri-amp

คิดหรือครับว่า คุณภาพเสียงจะดีได้ ?

ลองพิจารณาดูว่า หากเราทุ่มงบที่มีอยู่อย่างจำกัดนี้ ไปที่ Power amp เพียงเครื่องเดียว แล้วเล่นแบบ Single Amp ปกติ น่าจะมีโอกาสที่ให้เสียงที่มีคุณภาพดีกว่าหรือไม่ ?

แน่นอนครับ… ย่อมมีการโต้แย้งที่ว่า การแยกชิ้น จะช่วยลดการกวนกันของภาคต่างๆ กระแสไฟ ไม่ถูกแย่งกันระหว่างภาคต่างๆ โน่น นี่ นั่น blah blah blah….

แต่ขอให้คิดถึงผลสุดท้ายที่จะได้ ว่า อะไรที่น่าจะให้ผลที่ดีที่สุด ภายใต้ งบประมาณ ที่เรามีอยู่อย่างจำกัด ?

เราซื้อ เครื่องเสียงมาฟัง คุณภาพเสียงที่ดีที่สุด
หรือ… ซื้อเครื่องเสียงมาตั้งโชว์ เยอะๆ ให้ซับซ้อนมากๆ เพื่อความน่าเกรงขาม…

แต่.. เสียงดัน สู้ system ที่เรียบง่าย และ น้อยชิ้น ไม่ได้ ?

อย่าลืมว่า ในการที่เรายิ่งเพิ่มสิ่งที่ซับซ้อนมากยิ่งขึ้นในระบบของเรา ในทุกๆจุดนั้น มันเป็นการเพิ่มความเสี่ยงในการสูญเสียคุณภาพของสัญญาน ในทุกๆจุดเชื่อมต่อ ในทุกๆเครื่อง ทุกๆชิ้น… ที่เราเพิ่มเข้ามาในระบบ เพราะการเล่นกลับของระบบเครื่องเสียงนั้น คือ การสูญเสียคุณภาพของสัญญานในทุกขั้นตอนของมัน

ดังนั้น… ก่อนที่จะเพิ่ม อะไรเข้ามาในระบบ ขอให้เราศึกษาข้อมูลพื้นฐานให้เข้าใจอย่างถ่องแท้ และ แน่ใจก่อนว่า อุปกรณ์ชิ้นนั้นๆ จะช่วยให้คุณภาพเสียงดีขึ้นจริง หากเราเพิ่มเข้ามาแล้ว เราต้อง “ได้” มากกว่า “เสีย”

ลองฟังให้แน่ใจก่อนว่า เสียงมันดีขึ้นจริงๆ ก่อนที่จะเพิ่มสิ่งนั้นเข้ามา
หากไม่แน่ใจ อย่าเพิ่มเข้ามา อย่า “เกลี่ย” งบประมาณ
แต่ควรทุ่มทุนให้เต็มที่ เฉพาะเครื่องที่มีความสำคัญ และ จำเป็น เท่านั้นครับ

อย่าง Digital Source ผมไม่เถียงหรอกครับ ว่า เครื่องที่แยก ภาคต่างๆกันนั้น ย่อมให้ คุณภาพเสียงดีกว่า เครื่องชิ้นเดียว ที่รวมทุกๆภาคเข้าด้วยกัน แต่.. ชุดแบบนั้น ราคากี่ล้านบาทครับ ?

หากเราไม่พร้อมเรืองงบประมาณ อย่าไปยุ่งกับเครื่องแบบนั้นเลยครับ
พยายามจัดชุดให้เรียบง่าย แต่คัดสรร มาอย่างพิถีพิถัน ดีกว่าครับ…

เพราะผมเชื่อว่า “ความเรียบง่าย คือ ความสวยงาม” ครับ