การฟังทดสอบเครื่องเสียง

สิ่งหนึ่งที่ผมมักจะพบเจออยู่เสมอๆคือ ความเชื่อผิดๆ การสรุปผิดๆ อันเนื่องมาจาก การทำการฟังทดสอบที่ ผิดวิธี ผิดขั้นตอน เนื่องมาจาก การขาดประสบการณ์ และ ข้อมูลที่ถูกต้อง เมื่อขาดความรู้ ทำผิด ฟังผิด จึงทำให้ ได้ข้อสรุปที่ ผิดพลาด คลาดเคลื่อนไปเสมอ จนทำให้เกิดความเชื่อตามๆกันไป โดยผิดๆ ไม่จบไม่สิ้น… จนบางครั้ง ก็ไม่รู้จะแก้ไข ความเข้าใจผิดๆนั้น ได้อย่างไร เพราะแพร่หลายไปกว้างขวางมาก..
คำแนะนำในการฟังทดสอบเครื่องเสียงต่อไปนี้.. จะใช้ได้ทั้งในกรณีไปฟังทดสอบเครื่องเสียงในชุดของตัวเอง หรือ ไปฟังทดสอบกับชุดของทางร้านจำหน่าย คำแนะนำต่างๆ บางครั้ง บางกรณี อาจทำได้ไม่หมด ด้วยความไม่พร้อม ไม่ว่าจะเป็นจากทางตัวผู้ฟังทดสอบเอง หรือ จากร้านค้า ก็ตาม.. แต่ก็ขอให้ พยายามทำให้ได้ดีที่สุด เท่าที่จะทำได้ครับ หากไม่ได้จริงๆ ก็คงต้องยอมประนีประนอม แต่ผมจะเขียนแนะนำขั้นตอนที่ถูกต้องไปให้ก่อนครับ
เมื่อใดก็ตาม… ที่เราต้องการฟังทดสอบ เพื่อ วิจารณ์เครื่องชิ้นหนึ่ง ชิ้นใด หรือ เพื่อตัดสินใจซื้อเครื่องเสียง ชิ้นหนึ่ง ชิ้นใด.. เราจำเป็นที่จะต้อง มีขั้นตอน และ หลักเกณฑ์ ที่ถูกต้อง ไว้เป็นแนวปฎิบัติ เราจำเป็นต้องมีแนวคิด และ หลักการ ที่ถูกต้อง ดังนี้ครับ
1. จงลดละ อคติ ความเอียงเอน บิดเบือน ในทุกๆอย่าง ทุกๆด้าน ลงไปให้เหลือให้น้อยที่สุด
เมื่อจะฟังทดสอบเครื่องเสียง ไม่ว่า ชุดใด ชิ้นใด ก็ตาม จง “วางใจให้เป็นกลาง” ให้มากที่สุด ให้ปล่อยวางทุกสิ่งลง จงลืมทุกอย่างไป อย่าติดยึด กับคำพูด คำแนะนำ ของผู้อื่น ไม่ว่า คนๆนั้น จะเป็นใครก็ตาม เซียน นักวิจารณ์ เพื่อนฝูง คนขาย หรือ ใครก็ตาม จงลืมความเห็นของคนอื่นไปให้หมด
วางใจให้เป็นกลาง ไม่บวก และ ไม่ลบ ไปล่วงหน้า
อย่าคาดหวังว่ามันจะดี อย่าเอาใจช่วย เพราะชื่อเสียงเก่าๆ หรือ เซียนชมไว้ แล้ว… เราจะตำหนิได้อย่างไร ?
อย่าปรามาส ดูถูก ตำหนิไปล่วงหน้า ทั้งๆที่ยังไม่ได้ฟัง แค่เห็นว่าไม่สวย ก็ติติง ไปเสียแล้ว
อย่าเกรง ชื่อ ชั้น ศักดิ์ศรี ยี่ห้อ ราคา ของยี่ห้อเก่าแก่
อย่าประมาท ม้านอกสายตา…
เปิดใจ ให้กว้าง เปิดรับทุกสิ่ง..
อย่าหลง งมงาย จนขาดสติ ขาดวิจารณญานที่เที่ยงธรรม ไป
จงให้เสียงเพลงเป็นสิ่งที่บอกคุณเกี่ยวกับเครื่องชิ้นนั้น…..
2. ฟังทดสอบ เมื่ออยู่ในสภาวะผ่อนคลาย ไม่เครียด สภาพแวดล้อม ไม่สับสน วุ่นวาย
เตรียมความพร้อมทางร่างกาย และ อารมณ์ ให้พร้อม อย่าฟังทดสอบเมื่อรู้สึกไม่สบาย รู้สึกหงุดหงิด หรือ ไปอยู่ในสถานที่วุ่นวาย สับสน ทำให้ขาดสมาธิ หรือ ต้องเร่งรีบ ในการฟัง ถูกเร่งเร้า เร่งรัด บีบคั้น ให้รีบฟัง รีบสรุปความเห็น หากยังมีเรื่องกังวล รบกวนจิตใจ ก็ไม่ควรฟังทดสอบ ควรจะเลื่อนการฟังทดสอบไปก่อน จนกว่า ทุกอย่างจะพร้อมครับ
3. จงแน่ใจว่า คุณฝึกฝน ทักษะการฟัง มาแล้ว อย่างพอเพียง
ทักษะในการฟังนั้น จะต้องใช้เวลาสั่งสมมาอย่างยาวนาน พอสมควร ทักษะในการฟัง ไม่สามารถจะมีได้ในทันที หรือ ในเวลาสั้นๆ ข้อนี้ ไม่มีทางลัดครับ จะต้องใช้เวลาที่ยาวนาน และ ความสม่ำเสมอ ในการทดลองฟัง คุณจะต้องรู้ และ เข้าใจว่า เสียงที่ดีเป็นเช่นไร เมื่อฟังทดสอบ คุณจะต้องสังเกตุอะไรบ้างในการฟัง มีประเด็นกี่อย่าง ที่คุณจะต้องฟังทดสอบ และ จดบันทึกผลที่ได้ในการทดลองฟังนั้นๆ ข้อนี้.. เป็นปัญหาที่ใหญ่มากอย่างหนึ่ง ซึ่งทำให้เกิดความผิดพลาด ผิดเพี้ยนไปได้อย่างมาก
ยกตัวอย่างเช่น.. เคยมีบุคคลท่านหนึ่ง เขียนตำหนิ audiophile ไปอย่างสาดเสีย เทเสีย ว่า เรื่องราวทั้งหลาย เป็นเรื่องไร้สาระ หลอกลวง ทุกอย่างล้วนเชื่อถือไม่ได้…. แต่… ในขณะเดียวกัน… เมื่อท่านผู้นั้น โพสต์รูปเครื่องเสียงที่เขาใช้อยู่ กลับกลายเป็นเพียง การฟังผ่าน computer ผ่าน ชุดเครื่องเสียงที่ น่าจะมีปัญหาทางด้านคุณภาพเสียง และ จัดวาง ชุดเครื่องเสียงอย่างผิดหลักการไปเสียทุกอย่าง ลำโพงตั้งอยู่บนพื้นโต๊ะ ที่วางไว้กลางห้อง เอนกประสงค์ ที่วางของทุกอย่างไว้ระเกะระกะ เต็มไปหมด ไม่มีการ setup ไม่มีการปรับสภาพอคูสติค และ ใช้เพลงตลาด มาฟังทดสอบเครื่องเสียง เอะอะ อะไร ก็พล๊อตกราฟ โน่น นี่ นั่น ออกมาอย่างยาวเหยียด แล้วก็สรุป ฟันธงไปเองเสียทุกประเด็นว่า เขาถูกต้อง แต่เพียงผู้เดียว
โดยสรุปคือ บุคคลท่านนั้น ขาดความรู้ ความเข้าใจ เกี่ยวกับเรื่องเครื่องเสียง ไปโดยสิ้นเชิง อาจจะเนื่องจากบุคคลท่านนั้น อาจจะอายุยังไม่มาก ขาดประสบการณ์ และฟังเพลงผ่านจาก เครื่อง computer มาโดยตลอด ยังไม่เคยได้ฟัง เครื่องเสียง ที่จัดชุด และ จัดวาง อย่างถูกต้อง มีคุณภาพที่ดีเพียงพอ จึงไม่มีความสามารถที่จะแยกแยะ ได้ว่า เสียงที่ดีจริงๆนั้น เป็นเช่นไร ?
ปัญหาใหญ่จะเกิดขึ้น เมื่อ บุคคลที่ขาดความรู้ ความเข้าใจ ท่านนั้นๆ มี อัตตา สูง… จนเข้าใจผิดว่า ตัวเองนั้น ถูกต้องที่สุด แล้วก็เริ่มกำหนด กฏเกณฑ์ ให้ทุกคนเชื่อตาม และ เริ่มโจมตี ด่าว่า ทุกๆคน ที่เห็นต่างออกไป.. ซึ่งเรื่องนี้ เป็นเรื่องที่แก้ไขได้ยาก และ ผมก็ไม่แนะนำให้ใครไปโต้เถียงเรื่องพวกนี้ เพราะเป็นเรื่องของ อัตตา และ เรื่องการยึดมั่น ถือมั่น ในสิ่งผิดๆ… มันจะเป็นการเสียเวลาของเราเองไปอย่างเปล่าประโยชน์… คงต้องปล่อยให้ท่านนั้นๆ เขาเดินไปตามทางของเขา
สิ่งที่เราต้องทำคือ ฝึกฝนตัวเราเอง เราจะต้องเรียนรู้ และ เปิดกว้าง ที่จะศึกษา และ ฝีกฝน ให้เข้าใจ ในแนวทางที่ถูกต้อง ในส่วนของเราก็เพียงพอครับ ส่วนคนอื่นนั้น… ก็ปล่อยเขาไป… ปล่อยวางเสีย….
สำหรับรายละเอียดของวิธีการฟังอย่าง Audiophile ว่า ต้องสังเกตุอะไร ฟังอย่างไร จะเป็นบทความแยกออกไปต่างหาก อีกบทความหนึ่ง ซึ่งจะมีความยาว พอสมควร จึงไม่สามรถเขียนไว้ในบทความนี้ได้
4. เลือกใช้เพลงที่มีคุณภาพในการบันทึกเสียงมาดีมาก เท่านั้น ในการฟังทดสอบ
เพลงที่เราเลือกใช้ในการทดสอบก็มีความสำคัญอย่างยิ่ง คุณควรจะเลือกแผ่นที่มีการบันทึกเสียงคุณภาพดีๆมาใช้เท่านั้น เพราะถ้าหากคุณเอาแผ่นคุณภาพเสียงไม่ดีมาใช้ เอาแผ่นตลาดที่ไม่ได้เน้นเรื่องคุณภาพเสียง มาใช้ จะทำให้เครื่องเสียงชุดนั้นๆ ไม่สามารถแสดงประสิทธิภาพ ออกมาได้อย่างเต็มที่ อีกทั้งจะยังทำให้ ข้อสรุปทั้งหมด เกิดความผิดพลาด ผิดเพี้ยน ไปทั้งหมด.. เรื่องนี้ ผมจะพบบ่อยมากๆ ที่ผู้ฟังทดสอบใช้แผ่น ที่มีคุณภาพเสียงไม่ดี หรือ แม้กระทั่งร้านค้า บางร้าน ก็เอาแผ่นที่มีคุณภาพเสียงต่ำ มาให้ลูกค้าใช้ในการฟังทดสอบ
แผ่นเสียงที่มีคุณภาพต่ำนั้น นอกจากจะทำให้เกิดความผิดเพี้ยนในข้อสรุปแล้ว มันจะซ่อนข้อบกพร่องของ system นั้นๆเอาไว้ด้วย เช่น แผ่นที่มีคุณภาพเสียงเบสที่ไม่ดี ไม่ลงลึก มันก็จะซ่อนข้อด้อยของ system ว่า เบสมีปัญหาเอาไว้ แต่หากเราใช้แผ่นที่มีคุณภาพเสียงที่ดีๆ มีเสียงเบสที่ลึก และแน่น หาก system มีปัญหา เราเปิดฟัง จะรู้ได้ในทันที
แนวเพลงที่ใช้ทดสอบควรจะมีความครอบคลุมให้ครบถ้วนทุกแนวดนตรี เช่น วงออร์เครสต้าวงใหญ่ , แชมเบอร์มิวสิค , วงออเครสต้าพร้อมกลุ่มนักร้องเสียงประสาน , เพลงเดี่ยวเปียโน , เสียงร้อง , ร๊อค , บลูส์ , เพลงแจ๊สที่ใช้อคูสติคเบส , เพลงที่มีการใช้ฉาบขนาดใหญ่ตี , เพลงที่บันทึกเสียงจากโบสถ์ , เพลงที่บันทึกเสียงจากการแสดงสด เป็นต้น ไม่ควรใช้เพลงเพียงสไตล์เดียว ในการทดสอบ เพราะจะทำให้ ไม่เห็นขอบเขตของคุณภาพเสียงของเครื่องเสียงชิ้นนั้นๆ ได้อย่าง ครอบคลุม เพียงพอ
และ คุณควรจะมี เพลงอยู่ชุดหนึ่ง ที่คุณจะใช้ในการทดสอบในการฟังอยู่เป็นประจำ และ คุณฟังจนจำได้ว่า ในแต่ละช่วงของเพลงนั้น เป็นอย่างไร และต้องสังเกตุอะไร ในการฟังทดสอบ เพลงนั้นๆ อย่าไปอาศัยแผ่นของร้ายขายหรือโชว์รูม เพราะคุณจะไม่คุ้นกับเสียงที่ได้ยิน ไม่ทราบว่ามีอะไรเปลี่ยนแปลงไปจากที่คุณเคยฟังหรือไม่ ผมได้เขียนเกี่ยวกับประเด็นของแผ่นทดสอบไว้ ในอีกหัวข้อหนึ่ง ตาม link นี้ครับ กรุณาไปอ่านเพิ่มเติมในรายละเอียดเกี่ยวกับประเด็นนี้ครับ https://avguide.avbestbuy.com/TestDisc
5. ฟังทดสอบในห้องฟัง ที่ดี และ ถูกต้อง และ setup system ไว้อย่างถูกต้อง เท่านั้น
สัดส่วน และ โครงสร้างของห้องฟัง นั้น มีผลต่อการฟังทดสอบอย่างมากๆ ชนิดที่จะทำให้ คุณภาพเสียงที่ได้ยิน ผิดเพี้ยนไปอย่างสุดกู่ ห้องฟังที่มีสัดส่วนผิด อาจทำให้เสียงเบสบวม อาจทำให้เสียงเบสหาย การสั่นกระพือของฝ้าเพดาน อาจทำให้คนฟังไม่แน่ใจว่า ปัญหามาจาก system หรือ จากห้องกันแน่ การทำห้องฟัง ที่มีผนังข้างด้านหนึ่ง แต่อีกด้าน เปิดโล่ง ย่อมส่งผลต่อ imaging , soundstage อย่างรุนแรง… การป้องกันเสียงรบกวนต่างๆ ย่อมส่งผลต่อข้อสรุปเกี่ยวกับ background noise ของระบบได้ ฯลฯ.
ดังนั้น.. พิจารณา ห้องฟังให้ดี ก่อนการฟังทดสอบ ว่า ห้องฟัง ถูกต้อง สมบูรณ์ หรือไม่ ทั้งในแง่ สัดส่วน โครงสร้าง และ การปรับสภาพอคูสติคของห้อง ว่า ปรับไว้ถูกต้องตามหลักการหรือไม่ ?
การ setup system ก็ส่งผลต่อคุณภาพเสียงอย่างยิ่ง ก่อนที่จะฟังทดสอบ และ สรุปเรื่องคุณภาพเสียง ขอให้พิจารณา การ setup system ให้ดีๆ ว่า มีอะไร mismatch อยู่หรือไม่ ? การจัดวางลำโพง เป็นอย่างไร ?
ผมเคยไปฟังลำโพงบางยี่ห้อ ที่ทางร้าน จัดวางไว้อย่าง ย่ำแย่…. ผลหรือครับ ? เสียงเละเทะ ไปหมด ชนิดที่เรียกว่า เสียงห่วยมากๆทีเดียว ทั้งๆที่ ลำโพงคู่นั้น มีราคาร่วมล้านบาท ดังนั้น จึงขอให้ พิจารณา การ setup system ให้ดีๆ หากว่า มันมีปัญหามากๆ และ เราไม่สามารถแก้ไขมันได้เลย คำแนะนำ คือ… อย่าไปเสียเวลาฟังทดสอบครับ… เพราะจะเสียเวลา และ เปล่าประโยชน์ ครับ
เมื่อตัวคุณพร้อม แผ่นทดสอบพร้อม ห้องฟังพร้อม ชุดเครื่องเสียงพร้อม…..
ต่อไป คือ ข้อควรปฎิบัติ ระหว่างการฟังทดสอบครับ….
ข้อควรปฎิบัติในการฟังทดสอบเครื่องเสียง
กฎข้อ 1 ในการฟังทดสอบคือ จงเปลี่ยนเครื่องเพียงชิ้นเดียวเท่านั้น ในระหว่างการฟังเปรียบเทียบ อย่าเปลี่ยนไปเปลี่ยนมา จนจับไม่ได้ว่า คุณภาพเสียงที่เปลี่ยนไป เกิดจากเครื่องชิ้นไหน นี่อาจจะเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ในบางกรณี เพราะไม่มีร้านใดขายของครบทุกชิ้น และเขาก็จะไม่ยอมให้คุณยืมเครื่องไปลองที่อื่นด้วย ผลก็คือ คุณต้องตระเวณฟังไปในหลายๆที่ และ เจอกับ ห้องฟัง และ ชุดเครื่องเสียง ที่ต่างกันไปในทุกๆชุด ในกรณีนี้ อาจจะต้องอาศัย ทักษะการฟังที่ค่อนข้างสูง ที่จะจับสังเกตุว่า ผลของเสียงนั้นๆ เกิดจากเครื่องชุดใดใน system และบางกรณี เราก็อาจไม่สามารถแยกแยะ ได้โดยสิ้นเชิง
ดังนั้น… ถ้าคุณสนิทกับที่ร้านมากพอ สถานที่หนึ่งที่เหมาะจะใช้ในการฟังทดสอบมากที่สุด คือ ห้องฟังของคุณเอง ซึ่งคุณสามารถเปลี่ยนเครื่องเสียงไปทีละชิ้น เพื่อทำการฟังเปรียบเทียบได้อย่างสบายใจ คุณอาจจะได้รับบริการอย่างนี้หรือไม่ ต้องลองเสาะหาดูเอาเอง ซึ่งผมคิดว่า ในปัจจุบัน ก็มีร้านค้าหลายๆร้าน พร้อมจะให้บริการกับลูกค้า ที่มีความสัมพันธ์ และ ติดต่อซื้อขาย กันมาบ้าง ตามสมควร
กฎข้อ 2 จงฟังเปรียบเทียบที่ระดับความดังเดียวกัน ถ้าเราฟังที่ความดังคนละระดับ ชุดที่เราเล่นดังกว่า มีแนวโน้มที่จะให้เสียงได้ดีกว่า เพราะเราได้ยินเสียงแหลม และเสียงเบสที่ชัดกว่า ชุดที่เราเล่นที่ระดับความดังเบาๆ เราจะรู้สึกเหมือนกับว่า ชุดที่ดังกว่า ให้ Dynamic , Impact ได้ดีกว่า อีกชุดหนึ่ง ดังนั้น ขอให้แน่ใจว่า เราฟังเปรียบเทียบเครื่องสองเครื่องในระดับความดังที่เท่ากันเสมอครับ
กฎข้อ 3 การฟังทดสอบนั้น จงฟังแบบ A/B/A เสมอ อย่าสรุปโดยการฟัง A/B เพียงเท่านั้น คุณอาจจะมีข้อสรุปที่ผิดพลาดได้ จงใช้เวลาอย่างเพียงพอ อย่าเร่งรีบ สรุปผล หากยังไม่แน่ใจ ให้ฟัง A/B/A ไปเรื่อยๆ จนกว่า จะแน่ใจ ในผลที่ได้
กฎข้อ 4 จงจดบันทึก เสียงที่ได้ยินไว้เสมอ ว่า เราฟังแล้ว ชุดนั้นๆแล้ว ในประเด็นต่างๆ ที่เราได้ยิน เรามีความเห็นเช่นไร เช่น Tonal Balance, Bass , Mid , Treble, Impact , Macro Dynamic, Micro Dynamic, Timbre, imgaing , Focus , Soundstage, Ambience, Transient เป็นต้น เมื่อเราไปฟังเครื่องอื่นๆ ก็ให้จดไว้เช่นกัน แล้วจึงค่อยกลับมาอ่าน สิ่งที่เราจดไว้ แล้วค่อยหาข้อสรุป หรือ หากไม่แน่ใจ ก็จะได้รู้ว่า เมื่อกลับไปฟังอีกครั้ง เราควรพุ่งความสนใจไปที่จุดใด
กฎข้อ 5 การทำ Blind Test ไม่ใช่สิ่งจำเป็น หากเรามีทักษะในการฟังที่เพียงพอ และ จิตใจของเราปล่อยวาง และ นิ่งพอ ที่จะตัดสินใจได้ โดยไม่โอนเอียงไปทางหนึ่งทางใด เราก็ไม่จำเป็นต้องฟังแบบ Blind Test ครับ เรื่องประเด็น Blind Test นั้น ยังมีการถกเถียงกันอยู่ อย่างกว้างขวาง ถึงผลดี ผลเสีย และ มันจำเป็นหรือไม่ ที่ต้องใช้ในการฟังทดสอบ
กฎข้อ 6 ระวังเรื่องประเด็นเล็กๆน้อยๆ ที่อาจส่งผลต่อคุณภาพเสียงอย่างมาก เช่น ปัญหา absolute polarity ซึ่งจะต้องดูด้วยว่า เครื่องนั้นมีการกลับเฟสสัญญานหรือไม่
หรือ เคยมีครั้งหนึ่ง ผมเคยไปฟัง system หนึ่งในงานโชว์ ผมพบว่า ร้านค้า ต่อสัญญานผิด สลับซ้ายเป็นขวา ขวาเป็นซ้าย ผมจึงขอให้ทางร้านค้า ตรวจสอบ แล้วก็พบว่า มีการต่อสลับข้างอยู่จริงๆ
เครื่องต่างๆที่ใช้ในการทดสอบก็มีผลเช่นกัน จงเรียกหาอุปกรณ์ดีๆมาใช้ร่วมทดสอบเสมอ เพื่อให้ผลที่ได้นั้น ไม่ถูกอะไรปิดกั้น ซ่อนเร้น หรือ เป็นจุดอ่อน อยู่ใน system ระวังเรื่องการ mismatch ของ system ตลอดจนเรื่องรายละเอียดเล็กๆน้อยๆ ต่างๆนาๆ ซึ่งผมต้องขออภัยว่า คงไม่สามารถเขียนแจกแจงได้อย่างครอบคลุม ครบถ้วนได้ในที่นี้….
กฎข้อ 7 **อย่า** ใช้ streaming มาเป็น source ที่ใช้ในการฟังทดสอบ โดยเด็ดขาด เพราะ Streaming นั้น มีคุณภาพเสียงที่แย่เกินกว่า ที่จะมาใช้อ้างอิง ในการทดสอบได้ หากเป็นไปได้ ให้เลือกใช้ source ตามลำดับดังนี้ ครับ 1. Open Reel (use Gen3 15 ips Tape) 2. Turntable 3. Hi-Res File player 4. CD player เพียง 4 อย่างนี้เท่านั้นครับ นอกเหนือจากนี้ อย่าใช้มันฟังทดสอบครับ (ผมไม่รวม DAT นะครับ เพราะคงแทบไม่มีใครใช้แล้วในปัจจุบัน)
กฎข้อ 8 บางครั้งในการฟังทดสอบ อุปกรณ์บางประเภท โดยเฉพาะ “ของเล่นมหัศจรรย์” ทั้งหลายนั้น ** หากวางใจเป็นกลางไม่ได้จริงๆ ** ก็ขอให้บอกตัวเองก่อนว่า “เราจะฟังไม่ออก” “มันไม่มีผลใดๆในทางบวกต่อเสียงทั้งสิ้น” แล้วจึงค่อยฟังทดสอบครับ หากว่า อุปกรณ์ชิ้นนั้นๆ ดีจริงๆ ทำงานได้ผลจริงๆ มันจะต้องเปลี่ยนใจเราได้ในที่สุด และ เราจะได้ยินความแตกต่างนั้น จริงๆ ประเด็นนี้ จะข่วยไม่ให้เรา ไปเอาใจช่วย โดยไม่รู้ตัว หรือ หลอกตัวเอง โดยไม่รู้ตัว ครับ
กฎข้อ 9 จงใช้เวลาในการฟังทดสอบให้นานพอ อย่ารีบร้อน สรุปความเห็น อย่าแข่งขันกับคนอื่น โดยเฉพาะตามงานโชว์ต่างๆ ให้ฟังไปเรื่อยๆ คุณไม่จำเป็นต้องฟังออกในทันที ว่า คุณภาพเสียงเป็นอย่างไร ฟังไม่ออก ก็บอกว่า ฟังไม่ออก อย่ากดดันตัวเอง หรือ อย่าให้คนอื่น มากดดันคุณ ให้จริงใจกับตัวเองเสมอ อย่างน้อยๆ คุณควรจะต้องใช้เวลาอย่างต่ำที่สุด 30 นาที ในการฟัง ก่อนที่จะแสดงความเห็น และ จะให้ดี ผมคิดว่า ประมาณ 2-3 ชั่วโมง จะเหมาะสมที่สุด หรือ ฟังให้นานกว่านั้น จะฟังกันข้ามวัน ก็ไม่แปลกครับ ไม่แน่ใจ ขอกลับมาฟังใหม่ได้ครับ ฟังให้แน่ใจเท่านั้น ว่า คุณภาพเสียงที่ได้ยินนั้น มีคุณภาพที่ดีจริงๆครับ จำไว้ว่า การฟังเพลง ไม่ใช่การแข่งวิ่ง 100 เมตร คุณไม่จำเป็นต้องวิ่งเข้าเส้นชัย เป็นคนแรกครับ
กฎข้อ 10 รสนิยมส่วนตัว เป็นอีกปัจจัยที่มีผลต่อความเห็นของแต่ละท่าน ดังนั้น จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่ เราฟังแล้ว อาจจะเห็นต่างจากท่านอื่นๆ เราชอบ คนอื่นอาจไม่ชอบ เราคิดว่าดี คนอื่น อาจคิดว่าไม่ดี นั่น.. เป็นเรื่องปกติ อย่าไปเสียเวลาถกเถียง เพื่อหาข้อสรุป แต่ให้จดบันทึกความเห็นของเราไว้ และ จดบันทึกความเห็นของคนอื่นไว้ด้วย และ เปิดใจให้กว้าง หากจำเป็น ก็กลับมาฟัง ในประเด็นที่ท่านอื่นๆ แสดงความเห็นเอาไว้อีกครั้งว่า เราเห็นด้วย หรือ ไม่เห็นด้วยอย่างไร การชอบเพลงประเภทที่ต่างกัน ก็จะมีผลต่อการเลือกชุดเครื่องเสียงเช่นเดียวกัน แต่ละคน จะต่างกันไปเสมอ และเลือกซื้อเครื่องเสียงต่างกันไปเสมอ… ครับ
กฎข้อ 11 จงฟังดนตรีครับ อย่าไปฟังทดสอบ เสียงปืนใหญ่ ว่า ชุดไหน ให้เสียงที่สั่นสะเทือน เลือนลั่น เหมือนปืนใหญ่จริงๆมากกว่ากัน อย่าไปฟัง เสียงขบวนรถไฟ ว่า ชุดไหน ให้เสียงเหมือนรถไฟจะวิ่งเข้ามาจอดเหมือนจริงมากกว่ากัน… อย่าหลงทางครับ เราฟังเพลง จงให้เสียงของดนตรี บอกคุณเองว่า เครื่องชิ้นไหน ชุดไหน ดีกว่ากัน ชุดไหน ที่คุณชอบมากกว่ากัน และ ให้ความสุขทางดนตรี กับคุณได้ดีกว่า… Musicality เป็นประเด็นมากอันหนึ่ง ที่เป็นปัจจัยในการเลือกซื้อเครื่องเสียงครับ
กฎข้อ 12 ในขั้นตอนการเล่นกลับนั้น มีแต่ความสูญเสีย และ ผิดเพี้ยน มากขึ้นไปเรื่อยๆ ในแต่ละขั้นตอนเสมอ สิ่งที่เราพยายามจะฟัง พยายามหา คือ…. ทำอย่างไร ให้เกิดการสูญเสียน้อยที่สุด ผิดเพี้ยนไปจากเดิม ให้น้อยที่สุด… ให้เสียงเหมือนจริง เหมือนวงดนตรี ยกวงเข้ามาในห้องเรา เหมือนนักร้อง เข้ามายืนร้องในห้องฟังของเรา ได้อย่างไร ?
จงระวังให้มากๆ หากมีใครสักคนมาเสนอแนวคิดที่ว่า เครื่องชิ้นนั้น “เติม” หรือ “เพิ่ม” อะไร เข้ามาได้ อย่างแปลกประหลาดมหัศจรรย์ ระวังว่า มันจะเป็นเรื่อง โกหก หลอกลวงครับ
ทั้งหมดนั้น เป็นแนวคิด แนวทาง ข้อเสนอแนะ ที่ผมอยากเขียนเล่าจากประสบการณ์ของผมเอง และ ความรู้จากที่ต่างๆที่เคยอ่านพบ และ ผมเห็นด้วยกับแนวทางนั้นๆ ผมจึงอยากให้ท่านทั้งหลาย ได้อ่าน และ พิจารณาดูว่า เห็นด้วยกับแนวทาง แนวคิด ข้างต้นหรือไม่ ผมหวังเป็นอย่างยิ่งว่า เราทั้งหลายจะมีวิธีการฟังทดสอบ ที่ถูกต้อง และ เที่ยงตรง มากขึ้น ฟังด้วยความเข้าใจ ไม่ใช่ฟังแบบผิดๆ แล้วก็เข้าใจตามๆกันไปอย่างผิดๆ หรือ.. ขาดความเชื่อมันในตัวเอง จนไปคล้อยตามความเห็นผิดๆ ต่างๆที่มีคนฟันธงไว้อย่างผิดๆ มากมาย ในวงการเครื่องเสียงเมืองไทย
การฟังทดสอบนั้น ต้องอาศัยเวลา และ การฝึกฝน แต่ก็ไม่ได้ยากเกินกว่าที่จะทำได้ด้วยตัวเอง และ.. เมื่อวันใด ที่คุณมีความพร้อม ทั้งทักษะ และ ประสบการณ์ มีแนวคิด และ หลักการที่ถูกต้องแล้ว… มันจะช่วยให้คุณสามารถตัดสินใจ เลือกซื้อเครื่องเสียงได้อย่างถูกต้อง และ ถูกใจ ตัวของคุณเอง มันะช่วยให้การใชจ่ายเงินซื้อเครื่องเสียง เป็นไปอย่างคุ้มค่าที่สุด ไม่ถูกหลอกฟัน ไม่ถูกหลอกต้ม
และ… สิ่งที่สำคัญเหนืออื่นใดคือ… มันจะช่วยให้คุณมีความสุขทางเสียงเพลง ผ่านชุดเครื่องเสียงของคุณได้มากที่สุดครับ…..