อย่าถามผมว่า ซื้ออะไรดี ?

ซื้ออะไรดี ?

ระยะหลัง มีคนถามผมแบบนี้บ่อยๆ จนผมคิดว่า ผมคงต้องเขียนบทความเอาไว้เลย เพื่อ ตัดแปะ ให้สำหรับทุกคนที่ถามคำถามนี้ครับ โดยผมจะเขียนกระชับๆ เป็นประเด็นๆ เพื่อประหยัดเนื้อที่ และ เวลา

คำตอบสั้นๆคือ ผมไม่มีความสามารถที่จะตอบคำถามที่ว่า “ซื้ออะไรดี” และ จะไม่ตอบด้วยครับ ดังนั้น หากคุณหวังจะได้คำตอบว่า เครืองเสียงยี่ห้อไหนดี รุ่นไหนดี หยุดอ่านตรงนี้ได้เลยครับ

สำหรับคำตอบบแบบ ยาวๆ มีดังนี้…..

ประการแรก ผมไม่ตอบคำถามที่ว่า ซื้ออะไรดี เพราะมันขัดแย้งกับ แนวคิด และ ความเชื่อของผมครับ ผมเชื่อว่า ทุกคนต่างกัน ไม่มีใครเหมือนกัน ทุกคนจะจัดลำดับความสำคัญต่างกัน ชอบต่างกัน เลือกต่างกัน และ จะตัดสินใจต่างกันด้วย เพราะทุกคนชอบฟังเพลงไม่เหมือนกัน รสนิยมต่างๆกันไป 

ลองคิดดูนะครับ หากทุกคนชอบเหมือนกันจริง มันก็คงมีเครื่องเสียงยี่ห้อ เดียว รุ่นเดียว เทคโนโลยี่เดียว รูปแบบเดียว อยู่ในตลาดไปแล้วครับ มันจะไม่มีแอมป์ solid state v.s. หลอด source Analog v.s. Digital และ สารพัดประเภทลำโพงให้เลือกซื้ออย่างที่เห็น มันจะต้องมีลำโพงอยู่แบบเดียว ยี่ห้อเดียวเท่านั้น จริงไหมครับ

ประการที่สอง คุณต้องรักดนตรี หากคุณไม่รักดนตรี หยุดอ่านตรงจุดนี้เลย เพราะเราจะคุยกันไม่เข้าใจแม้แต่น้อย หากคุณมัวแต่ฟังเครื่อง ไม่ฟังเพลง คุณจะเห็นแตกต่างจากผมไปในทุกก้าวของแนวทางที่เลือกเดิน ดังนั้น คุณต้องรักเสียงเพลง รู้ว่าคุณชอบเพลงแนวไหน ชอบดนตรีแบบไหน หากคุณเอาแต่ฟังเครื่อง เราจะคุยกันไม่เข้าใจ

ประการที่สาม หาตัวเองให้เจอ คุณคือใคร ชอบอะไร ต้องการอะไร
จำไว้ว่า ไม่มีเซียนที่เป็นมาตรฐานอุตสาหกรรม ไม่ต้องเชื่อใครหน้าไหนทั้งสิ้น จงเปิดกว้างรับฟังความคิดเห็น แต่… ไม่ต้องเชื่อ คุณต้องพิสูจน์เองเท่านั้น คุณอาจจะเห็นด้วย หรือ เห็นขัดแย้ง มันเป็นเรื่องปกติ อย่ายอมรับนับถือใครเป็นเซียน หรือ ยอมให้ใครมากำหนดให้คุณต้องทำตาม 

เวลาฟังใครโม้แล้ว ต้องคิดให้มากๆ เพราะผมเห็นเยอะแยะ พวกที่ตั้งตัวเป็นผู้เชี่ยวชาญ แต่พูดมั่ว ไร้สาระ อยู่ตลอดเวลา หากคุณ หาตัวเองเจอ คุณจะไม่เป็นเหยื่อของ ร้านค้า หรือ พวกเซียนกำมะลอพวกนี้ ดังนั้น คุณจึงควรรับฟังไว้แบบ ฟังหูไว้หู แล้วไปฟังพิสูจน์ด้วยตัวคุณเองอีกครั้งเสมอ

ประการที่สี่ จงปรับ mode การฟังของคุณได้ คือ ฟังแบบวิจารณ์ ทดสอบ กับการฟังเพื่อความเพลิดเพลิน เราจะฟังแบบ critical listening เมื่อ เราจะเลือกซื้อเครื่อง หรือ วิจารณ์เครื่อง เท่านั้น เมื่อซื้อมาแล้ว จงหยุดจับผิดเครื่องเสียงของตัวเอง จงฟังเพื่อความเพลิดเพลินใจ มีความสุขไปกับเสียงดนตรี หากคุณปรับ mode การฟังได้ ต่อให้คุณไปฟังเครื่องชุดใหญ่มาจนหูเสีย แต่คุณจะปรับตัวได้เร็ว กลับมามีความสุขกับ เครื่องของคุณเองได้เร็ว และ ง่ายกว่า พวกที่วันๆไม่ทำอะไร เอาแต่จรดๆจ้องๆ อยู่หน้าเครื่องตัวเอง เพื่อหาข้อตำหนิให้เจอ จนไม่มีความสุขใดๆเลย กับการเล่นเครื่องเสียง

จงฟังเพลงครับ อย่าฟังเครื่อง !

OK นั่นคือ แนวคิดหลัก 4 ประการของผม คิดดูว่าคุณเห็นด้วยหรือไม่ หากคุณไม่เห็นด้วยกับแนวทางเหล่านี้ ก็หยุดอ่านตรงนี้ครับ
แต่หากคุณเห็นด้วย เรามาว่า กันถึง แนวทางการเลือกซื้อเครื่องเสียงกันต่อ….

1. คุณชอบเพลงแบบไหน หาตัวเองให้เจอ แนวเพลงจะกำหนดเครื่องเสียงที่คุณเลือกครับ classic ต้องการลักษณะเสียงแบบหนึ่ง Jazz ต้องการแบบหนึ่ง Rock ก็ต้องการอีกแบบหนึ่ง

2. ออกไปฟัง เสียงดนตรีจริงๆ บ่อยๆ ในสถานที่มีระบบ อคูสติคที่ดีพอ ฟังให้รู้ และ จำได้ว่า เสียงที่เป็นธรรมชาตินั้น เป็นอย่างไร เสียงเครื่องดนตรีจริงๆ เป็นอย่างไร

3. หาแผ่น บันทึกเสียงดีๆ ไว้เป็น reference หลายๆแผ่น ฟังให้ชิน และ จำได้ทุกเม็ด หากมีอะไรเปลี่ยนแปลงไปเพียงน้อยนิด คุณจะต้องบอกได้ และ เอาแผ่นดังกล่าวไป ใช้ทดสอบ system ทุกครั้ง ใช้เพลงหลายๆแนว ในการทดสอบ เพื่อให้ครอบคลุมเสียงในทุกลักษณะบุคลิก อย่าไปใช้แผ่นของร้านค้าครับ ให้พกแผ่นไปเองเสมอ

4. ออกไปฟัง system ดีๆ โดยไม่ต้องสนใจว่า ราคาจะเป็นเท่าไร ขอให้เสียงดีจริงๆก็พอ ฟังแล้วให้ จดความเห็นของตัวเองไว้ คุณชอบมันตรงไหน คุณไม่ชอบมันตรงไหน ชุดไหน ลักษณะไหน ที่คุณชอบมันที่สุด ไปฟังให้มากที่สุดครับ ตามงานโชว์ ชุดเครื่องเสียงของเพื่อน ตามร้านขาย หากมีโอกาส ฟังให้หมด และ จดข้อสังเกตุไว้ทุกครั้งว่า คุณคิดอย่างไร กับชุดที่ได้ฟัง

5. รับฟังความเห็นของทุกคน แต่อย่าเชื่อ ให้ฟังแล้วคิด วิเคราะห์ ว่า คุณเห็นด้วย หรือ ไม่เห็นด้วย เพราะอะไร เปิดใจให้กว้างครับ แต่ต้องเชื่อมั่นในตัวเอง คุณไม่จำเป็นต้องเห็นด้วยกับคนอื่น

6. ค่อยๆฟังไป ค่อยเรียนรู้และพัฒนาตนเองไป ในระหว่างนี้ ไม่จำเป็นต้องซื้อหรือเสียเงินใดๆทั้งสิ้นครับ เงินเป็นสิ่งหายาก การใช้มันต้องคิดให้รอบคอบ สำหรับคนที่เสียเงินเยอะๆแล้ว แต่ได้เครื่องเสียงไม่ดึ ไม่ถูกใจตนเอง ก็เป็นเพราะเขาไม่ยอมพัฒนาตนเองครับ ไม่ยอมเรียนรู้หลักการพื้นฐาน เพราะหากว่า เขาฟังเป็น เลือกเองได้ เขาจะไม่เกิดอาการที่ว่าเด็ดขาดครับ ตรงกันข้าม คนประเภทที่ซื้อของมาไม่นานแล้วต้องขายทิ้ง หรือ เปลี่ยนเครื่องไม่ยอมหยุดนั้น ก็เพราะเขาเดินผิดทาง หลงทางมาตั้งแต่แรกต่างหากครับ หรืออาจจะเอาแต่ซื้อตามที่คนอื่นเขาว่ามาตลอด เล่นเครื่องเสียงไปโดยที่ไม่รู้จักตนเองเลย จึงเกิดอาการดังกล่าวขึ้น

7. ศึกษา เรียนรู้ ความรู้พื้นฐานต่างๆ ศาสตร์ทางด้านอคูสติค ข้อมูลเทคนิคเบื้องต้น มีข้อมูลมากมาย ให้ค้นหาได้อย่างง่ายดายมากครับ ไม่เหมือนสมัยผมหัดเล่น แทบไม่มีข้อมูลอะไรให้ค้นเลย นักเล่นสมัยนี้ ถือว่าโชคดีมากครับ

8. อย่าเชื่อสิ่งที่ร้านค้าพูด ให้ระวัง เพราะผมเคยเห็นร้านค้า เชือดหมูต่อหน้า ต่อตาผม มาแล้ว

9. จงระวัง system ที่ให้เสียงน่าตื่นเต้น เร้าใจ ฉูดฉาด ให้มากๆ ระวัง system ที่ให้เสียงใหญ่เกินตัวให้มากๆ สังเกตุดูว่า มีอะไรผิดปกติหรือไม่ เสียงกลาง มีปัญหาหรือไม่

10. เสียงที่ดี คือ เสียงที่ ผ่อนคลาย laid back ไม่ forward ไม่ฉูดฉาด จัดจ้าน เป็นเสียงที่คุณฟังไปได้นานๆ อย่างมีความสุขไปกับเสียงดนตรี ดังนั้น ให้ใช้เวลาในการฟังให้นานพอ อย่านังลงฟังแค่ 10 นาที แล้วตัดสินใจ คุณควรต้องฟังอย่างน้อย 30 นาทีขึ้นไปครับ

11. ฟังเปรียบเทียบ ด้วยความดังที่ระเดียวกันเสมอ

12. ร้านค้าร้านไหน ไม่ให้ฟัง อย่าไปซื้อครับ ให้เดินหนี

13. ร้านค้าร้านไหน demo ไม่ดี เสียงออกมาไม่ดี อย่าไปซื้อครับ ต่อให้มันมีรีวิวดีสุดยอด ก็อย่าไปซื้อครับ 

14. ร้านค้าร้านไหน โกหกให้คุณจับได้ อย่าไปซื้อครับ 

15. ให้ระวังร้านค้า ที่ชอบตั้งตัวเป็นผู้เชี่ยวชาญ แล้วกำหนดให้ลูกค้าเดินตามที่ร้านค้าบอกทุกอย่าง โดยพยายามปิดการขายโดยเร็ว โดยไม่ให้ลูกค้าได้คิดเองเลย ระวังร้านค้าประเภทนี้ให้มากๆ

16. หาร้านค้าที่ดีให้เจอ แล้วคุยกับเขา เหมือนเพื่อน อย่าต่อราคาจนร้านค้าอยู่ไม่ได้ ร้านที่บริการดี จะมีต้นทุนสูงกว่า คุณควรให้ร้านค้ามีกำไรบ้าง หากคุณยึดราคาถูกที่สุดเป็นสำคัญ ในที่สุด คุณจะเหลือแต่ ร้านค้าเลวๆ อยู่ในตลาดครับ

17. อย่าตัดสินใจภายใต้แรงกดดันรอบข้าง อย่าด่วนสรุปอะไรที่ไม่แน่ใจ ฟังซ้ำ A/B/A เสมอ ฟังด้วยใจเป็นกลาง หากจะฟังแบบไม่เป็นกลาง ให้บอกตัวเองว่า มันจะไม่ดี มันจะไม่ดี แล้วให้เครื่องชิ้นนั้น พิสุจน์ตัวเองมา หากมันดีจริง มันต้องแสดงให้คุณเห็นอย่างชัดเจน อย่าเอาใจช่วย อย่ามโนไปเอง ฟังในบรรยากาศที่สงบๆ สบายๆ ร้านค้าควรจะเงียบๆ ให้ลูกค้าได้ฟังให้เต็มที่ 

18. อย่าไปซื้อเครื่องเสียงในงานโชว์เครื่องเสียง งานเอาไว้เดินเล่น และ ฟังไว้เป็นไอเดียเฉยๆ บรรยากาศมันสับสนเกินไป ผู้คนมากมายเกินไป สนใจเครื่องไหน ค่อยกลับไปฟังในห้อง demo ของร้านในภายหลังครับ (ยกเว้นว่า ฟังมาแล้วก่อนหน้า และได้ราคาดีๆกว่าปกติ ก็ซื้อในงานได้ครับ)

19. จัดลำดับความสำคัญจาก ใหญ่ ลงไปหา เล็ก ไล่ไปตั้งแต่ มีห้องที่ดี มี system ที่ดี มีการปรับอคูสติคที่ดี และ มีการ setup ที่ดีครับ แล้วจึงไล่ลงไปหารายละเอียดอื่นๆ ไม่ใช่ ห้องก็ไม่พร้อม system ก็จัดไม่ลงตัว setup ก็ไม่ดี แล้วไปไล่เปลี่ยนฟิวส์ เปลี่ยนสาย อย่าทำแบบนั้นครับ หากคุณทำแบบนั้น คุณจะเป็นหมูหันชั้นดีของร้านค้า

20. เตรียมห้องให้พร้อม ห้องเล็ก หรือ ห้องใหญ่ ควบคุมเสียงผ่านเข้าออกได้ไหม สัดส่วนห้องถูกต้องไหม หากห้องไม่พร้อม อย่าลงทุนมากเกินไปกับ system เครื่องเสียงของคุณ ห้องฟังเป็นปัจจัยสำคัญลำดับต้นๆของ system ครับ

21. ให้เลือกลำโพงก่อน ว่าคุณต้องการลำโพงแบบไหน ฮอร์น , planar , dynamic ? ยี่ห้อไหน รุ่นไหน เพราะคุณจะต้องเลือกแอมป์ให้เข้ากันได้กับ ลำโพงที่คุณชอบ และดูว่า ลำโพงนั้นๆเหมาะกับห้องคุณหรือไม่ อย่ายัดลำโพงใหญ่ๆเข้าไปในห้องจิ๋วๆครับ

22. ในระดับเริ่มต้น คุณต้องการ integrate amp เจ๋งๆดีๆหนึ่งเครื่อง อย่าไปซื้อ Pre-Power แบบพอใช้มาฟัง เพราะแค่อยากสร้างภาพพจน์ให้กับตัวเอง 

23. ให้ความสำคัญกับ source ด้วย อย่าลืมว่า คุณใส่ขยะเข้าไป คุณก็ได้ขยะออกมา 

24. ให้ความสำคัญกับเสียงกลาง เป็นสิ่งแรก หากเสียงกลางไม่ถูกต้อง เสียงอื่นก็ไม่มีความหมาย จำไว้ว่า คุณต้องการคุณภาพเป็นสำคัญ ไม่ใช่ปริมาณ หากวัตต์แรก ไม่ถูกต้อง วัตต์ต่อไปก็ไม่มีความหมายเช่นกัน

25. ในระยะเริ่มต้น ชุดเล็กๆ จงยอมเสีย เรื่องของ เสียงเบส dynamic impact ออกไป เพื่อให้ได้เสียงกลางที่ดีไว้ก่อนครับ มองหา เสียงกลาง เสียงแหลม soundstage focus image musical ที่ดีไว้ก่อนเป็นสำคัญ

26. สายสัญญาน สายไฟ เครื่องเคียง อุปกรณ์เสริม เป็นสิ่งหลังสุดที่คุณจะซื้อ ระวังงบประมาณโดยรวม อย่าให้สูงเกินไป เช่น สายทุกเส้น ไม่ควรเกิน 15-20% ของมูลค่า system ของคุณครับ

27. การ matching system เป็นทั้งศาสตร์ และ ศิลป์ เป็นการ matching ทั้งในแง่ของสเปค เทคนิค และ บุคลิกเสียง และเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อคุณภาพเสียงโดยรวมที่ได้

28. อย่ายึดติดกับแนวคิด แนวทางต่างๆ เช่น ลำโพงต้องต่อ Bi-wired ได้เท่านั้น หรือ ต้องพยายามเล่น Bi-amp ให้ได้ เจ๋งจริงต้องเป็นชุด pre-power ปล่อยวางลงครับ อย่ายึดติด จงฟัง และ เลือกเครื่องด้วยใจที่เป็นกลางครับ อย่าตีกรอบจำกัดทางเลือกของตัวเอง ฟังให้เยอะๆครับ

29. เลือกซื้อเครื่องจากตัวแทนจำหน่าย ที่ให้บริการดีเท่านั้น อย่าสนับสนุนร้านค้าที่เลว ร้านไหน ไม่ให้ลองฟัง ไม่ demo ให้ดีๆ ไม่ให้บริการที่ดี อย่าไปซื้อครับ 

30. อย่าติดยึดกับราคา ฟังให้เป็น ฟังให้ออก คุณอาจเจอ เพชรในตม

31. ทุกๆคน อยู่ภายใต้ข้อจำกัดครับ จงเรียนรู้ที่จะอยู่ภายใต้ข้อจำกัดนั้น อย่างมีความสุข และ จัด system ให้ได้เสียงดีที่สุดภายใต้ข้อจำกัดที่มี หลังจากนั้น ให้ปล่อยวาง แล้วมีความสุขกับเสียงเพลง อย่าไปสนใจคนภายนอกจนเกินจำเป็น เรียนรู้ที่จะอยู่นิ่งๆ ฟังเพลงไปให้มีความสุข

32. อย่ากู้เงินมาซื้อเครื่องเสียงเด็ดขาด ไม่ควรซื้อผ่อน ควรใช้เงินสดซื้อ วางแผนการเงินให้ดี และ ปรึกษากับคู่ชีวิต ครอบครัวของคุณสำคัญกว่าเครื่องเสียงครับ วางงบประมาณให้เหมาะสม และ ประนีประนอมกับคนรอบข้างตัวคุณเสมอ

33. จงรีดประสิทธิภาพของ system ของคุณออกมาให้หมด จนหยุดสุดท้าย ใส่ใจการ setup ให้มากๆ หากคุณเลือกเครื่องเองเป็น และ เลือกได้ถูก คุณจะเป็นเซียนที่น่านับถือ นั่นคือ… คุณใช้เงินได้คุ้มค่าต่อบาทสูงสุด ได้เสียงที่ดีที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้จาก system ของคุณ ส่วนประเภทจ่ายเงินไม่หยุด แล้วยังหาเสียงที่ตัวเองต้องการไม่เจอ ซื้อสะเปะสะปะไปหมด แบบนั้นเรียกว่า หมู ครับ ไม่ใช่ เซียน

34. อย่าร้อนรน เปลี่ยนเครื่อง หรือ upgrade system บ่อยๆ ถี่ๆ ซื้อมาแล้ว ใช้ให้คุ้ม ฟังและเรียนรู้เครื่องของคุณให้ทะลุปรุโปร่ง รู้ข้อดี ข้อเสีย สิ่งที่ขาด สิ่งที่เกิน ให้ถ่องแท้ก่อน เมื่อคุณรู้ว่า อะไรคือ จุดดี จุดด้อย จึงค่อยๆฟังเครื่องใหม่ๆที่จะมาเติมเต็มสิ่งที่คุณต้องการในเวลาที่เหมาะสม ทุกครั้งที่เปลี่ยนเครื่อง คุณต้องตอบตัวเองได้ว่า คุณได้อะไรมา คุณเสียอะไรไป ทำไมคุณถึงอยากเปลี่ยน ทำไมคุณถึงเลือกเครื่องชิ้นนั้นมาทดแทนเครื่องเก่า ?

35. ถึงมีเงิน ก็อย่าเพิ่งซื้อเครื่องแพงๆ มาตั้งแต่แรก เพราะการเรียนรู้นั้น ต้องใช้เวลา และ ไปทีละขั้นตอน คุณจำเป็นต้องสั่งสมประสบการณ์ และ ความรู้ต่างๆ ให้มากพอ ก่อนที่จะตัดสินใจลงทุนด้วยเงินก้อนใหญ่ครับ

ผมขออภัย ที่ไม่สามารถตอบคำถามที่ว่า “ซื้ออะไรดี” แต่นั่นคือ แนวทางของผม เป็นสิ่งที่ผมเชื่อ และ ปฎิบัติ ผมรู้ว่า มันเป็นแนวทางที่ ยากลำบาก ใช้เวลายาวนาน ไม่รวดเร็ว สำเร็จรูป มันไม่ใช่ “คำตอบ” ที่ “คนถาม” ต้องการฟัง แต่ผมอยากให้คุณเติบโต ด้วยตัวเองอย่างมั่นคง มีแนวทางเป็นของตัวเอง เลือกเป็น ฟังเป็น เล่นเป็น และ ช่วยกันพัฒนาวงการเครื่องเสียงไทย ให้ดีขึ้น ให้ได้รับความเข้าใจจากคนอื่นๆที่อยูนอกวงการว่า เพราะอะไรเราถึงเล่นเครื่องเสียง ทำไมเราจึงรักมัน เราไม่ใช่พวก หูเพี้ยน ไร้สติ ไร้เหตุผล พูดเพ้อเจ้อ ละลายเงิน งมงาย ไร้สาระ ไม่ฟังเพลง วันๆเอาแต่เงี่ยหูฟังอะไรบ้าบอก็ไม่รู้ ฯลฯ. 

ผมอยากให้คนอื่นเข้าใจถึงแนวทางการเล่นเครื่องเสียงที่ถูกต้อง เพื่อที่ในอนาคต คนภายนอกจะมองพวกเราด้วยความเข้าใจ และเราจะได้มีสมาชิกใหม่ๆ เพิ่มขึ้นมาเรื่อยๆ และ เติบโตอย่างมั่นคงครับ

และทั้งหมดนั่นคือ คำตอบของผม สำหรับทุกคำถาม ที่ถามผมว่า “ซื้ออะไรดี” ?